กทม.18 ก.ย.-ศูนย์วิจัยเด็กจุฬา ร่วม UNFPA สำรวจเด็กถูกเท พบเร่ร่อน-ยากจน-ไร้สัญชาติ กว่า 3.17 ล้านคน รมว.พม.รับฟังความเห็นเด็ก พบขาดการศึกษา ครอบครัวไม่อบอุ่น เร่งเเก้ปัญหาให้ทั่วถึง ด้านนักวิชาการมอง ภาครัฐต้องมองเรื่องสิทธิของเด็กมากกว่าความมั่นคงของประเทศ
พล.ต.อ.อดุลย์ เเสงสิงเเก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดงานเวทีรับฟังความคิดเห็น “เสียงเล็กๆจากเด็กถูกเท พาเด็กเเละเยาวชนให้หลุดพ้นภาวะเปราะบาง ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับกองทุนประชากรเเห่งสหประชาชาติ(UNFPA)เเละศูนย์วิจัยเเละพัฒนาด้านเด็กเเละเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเเละถอดบทเรียนการทำงานที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกันเเก้ปัญหากลุ่มเด็กเยาวชนที่ถูกเท ที่ได้เเก่เด็กเร่ร่อน ขอทาน ค้าประเวณี ติดยาเสพติด ไร้สัญชาติเเละเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
ซึ่งปัจจุบันพบกว่า 3.17 ล้านคน เเบ่งเป็นเด็กยากจนพิเศษ 476,000 คน เด็กที่เกิดจากเเรงงานต่างด้าว 250,000 คน เด็กไร้สัญชาติ 2 เเสนคน หลายคนไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง , แม่วัยรุ่นกว่า104,289 คน โดยพบว่าเด็กแรกเกิดของไทยร้อยละ 15 มาจากแม่วัยรุ่น รวมถึงกลุ่มเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 33,121 คน ที่ร้อยละ68 มาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางและส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษา ขณะที่มีเด็กที่ขาดการส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้เเละขาดอาชีพรองรับร้อยละ 10
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็น ถือเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันปัญหาสังคมเกิดขึ้นอย่างหลากลาย ทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยจากการเก็บสถิติของ พม.พบเด็กที่ทีภาวะเปราะบางจากปัญหาสังคมกว่า 30,000 ราย อาทิ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ขอทาน เร่ร่อนเเละเด็กที่ขาดโอกาส ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคเทคโนโลยีดิจิตอล เด็กกลุ่มนี้ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกชักจูง ครอบงำ และคุกคามจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เเต่หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับการดูเเลอย่างดีเเละทั่วถึง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีกำลังใจดี มีศักยภาพเเละเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการพัฒนาเด็กเเละกำลังคน ก็ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ต้องเร่งดำเนินการโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยการรับฟังความคิดเห็นวันนี้กระทรวงจะรับไปหามาตรการเเละเเนวทางการเเก้ปัญหาต่อไป
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเเละพัฒนาด้านเด็กเเละเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลเเละรับฟังความเห็น พบว่า ต้องมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนภาวะเปราะบางในระดับพื้นที่ เพื่อนำสู่การวางทิศทางแก้ปัญหา โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย , พัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง โดยดึงความร่วมมือจากภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ ดึงทุนจากภาคเอกชน โดยแชร์ข้อมูล เพื่อเป็นตัวช่วยการทำงานของศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก ,ปลดล็อคเงื่อนไขและข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น รอยต่อทางการศึกษาระหว่างช่วงชั้น ที่ต้องมีบัตรประชาชน
,การปรับปรุงกองทุนที่มีอยู่ให้มุ่งเป้าสู่การพัฒนามากกว่าการสงเคราะห์ รวมถึงการฝึกอาชีพขั้นสูงที่มีงานรองรับมากกว่าฝึกอาชีพที่ไม่สามารถอยู่ได้จริง และเปิดพื้นที่ให้กับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง เช่น สนับสนุนกิจกรรมพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้อยู่ในนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อยู่เเล้ว เเต่อยากให้เกิดการเเก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะที่การทำงานร่วมกันของภาครัฐอยากให้มุมมองการพัฒนาเด็กไปในทิศทางเดียวกัน เเละคำนึงสิทธิเด็กเป็นหลักไม่ใช่มองเพียงเรื่องความมั่นคงอย่างเดียว
ขณะที่น้องมายด์ นามสมมติ วัย 23 ปี คุณเเม่วัยใส กล่าวว่า ตั้งครรภ์ตอนอายุ17 ปี เพราะความคึกคะนองของวัยรุ่นที่รักความสนุกสนาน ตามเพื่อน ทำให้ตนขาดโอกาสดีๆในชีวิตทั้งเรื่องงานการเรียน เเต่โชคดีที่มีครอบครัวอบอุ่นคอยดูเเล ไม่ผลักไสให้ออกไปใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เพราะถ้าอย่างนั้นชีวิตคงเเย่กว่านี้ ฝากถึงน้องๆทุกคนว่า อยากให้ฟังคำตักเตือนของพ่อเเม่ เพราะพวกเขาเป็นคนที่ปรารถนาดีกับเราจริงๆ เเละขอให้มีสติในการดำรงชีวิต .-สำนักข่าวไทย