สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน 12 พ.ย.-รมว.ทส. พร้อมเจรจา 5 ประเด็นแก้ปัญหาโลกเดือด ในเวที COP29 การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ข้อตกลงและข้อตัดสินใจภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วน Thailand Pavilion โชว์ผลงานของประเทศเปิดแล้ว พา “หมูเด้ง” อวดโฉมชาวโลก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ได้เตรียมประเด็นเจรจาต่อนานาชาติในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจําปี พ.ศ. 2567-2568 (COP29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานไว้ 5 ประเด็น ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ตลอดจนนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
สำหรับประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยเตรียมไปเสนอในการประชุม COP29 ได้มุ่งเน้นการเสนอผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทั้งประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ข้อตกลงและข้อตัดสินใจภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีประเด็นที่สำคัญ 5 ประเด็น ประกอบด้วย
(1)การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการบรรลุ NDC 2030 ซึ่งคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 30 – 40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
(2)การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวฯ เข้าสู่แผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขาและในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ
(3)การเร่งผลักดัน พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(4)ตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม จากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024)
(5)การจัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามกำหนดเวลา
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องได้เปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 โดย Dr. Sultan Ahmed Al Jaber ประธาน COP28 กล่าวรายงานผลการดำเนินงานการประชุม COP28 ที่ผ่านมา ถึงผลสำเร็จในการเร่งลงมือให้เกิดผลลัพธ์อย่างมีเป้าหมาย “UNITE• ACT• DELIVER” ภายใต้ข้อริเริ่มและปฏิญญาที่สำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงสะอาด สุขภาพ การเกษตร สันติภาพ เยาวชน การสร้างความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมโดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม รวมถึงการเริ่มดำเนินการกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย
จากนั้น H.E. Mukhtar Babayev ในฐานะประธาน COP29 กล่าวถึง ความคาดหวังต่อการประชุม COP29 ว่าต้องการเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคีในการแก้ปัญหาโลกเดือด โดยระบุถึงประเด็นที่จะหารือกันในที่ประชุม 5 ประเด็นดังนี้
(1)การจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนาคาดหวังกับการสนับสนุนทางการเงินทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Highly concessional loan) ที่มีความชัดเจน
(2)การจัดทำ NDC 3.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของปี ค.ศ. 2035 ที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส และผลการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก ครั้งที่ 1 (The First Global Stocktake)
(3)การเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and damage fund) ที่มีความชัดเจนในด้านข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และแนวทางการขอรับการสนับสนุน ให้กับประเทศที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(4)ความชัดเจนของตัวชี้วัด (Indicators) ตามเป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก และตัวชี้วัดในระดับพื้นที่ ตามบริบทของประเทศภาคี
(5)ความร่วมมือภายใต้กลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีส ที่จะต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน และไม่ก่อให้เกิดภาระเพิ่มเติมเกินจำเป็น
ส่วนการประชุม COP 29 และการประชุมคู่ขนานที่เกี่ยวข้อง จะมีสาระสำคัญในการหารือประกอบด้วย (1) การประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Climate Action Summit) ระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน 2567 (2) การประชุมระดับสูง (Resumed high-level segment) ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2567 และ (3) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการเจรจาตามกรอบของกลุ่มประเทศ 77 และจีน (G77 and China) ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 9 – 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมาภายใต้กรอบการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ รัฐภาคีพิธีสารเกียวโต รัฐภาคีความตกลงปารีส รวมถึงองค์กรย่อยภายใต้กรอบการประชุมดังกล่าว
ส่วนการแสดงนิทรรศการใน Thailand Pavilion ซึ่งนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ประกอบด้วย 4 ส่วนที่สำคัญได้แก่ Climate Policy Climate Technology Climate Action และ Climate Finance รวมถึง Technology and Innovation Zone นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอนจากภาคเอกชน และที่สำคัญได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ที่เป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ ผู้แทนเยาวชน ผู้แทนรัฐบาล องค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศในหัวข้อต่างๆ กว่า 30 หัวข้อ อาทิ เยาวชนกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจสีเขียว นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการลดและกักเก็บคาร์บอน การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาต่างๆ
ใน Thailand Pavilion ทส. ได้จัดกิจกรรมที่ดึงดูความสนใจผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีจุดถ่ายรูปและของที่ระลึกเป็นแมกเนต “น้องหมูเด้ง” ฮิปโปแคระขวัญใจของชาวไทยและชาวโลก ฮิปโปตัวน้อยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก.-512.-สำนักข่าวไทย