กองทัพบก 15 ก.ย.- โฆษกกองทัพบก ชี้แจงตัวเรือเหาะที่กองทัพบกหยุดใช้งานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะและอากาศยาน โดยระบบหลักร้อยละ 80 ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีกองทัพบกหยุดใช้งานเรือเหาะ ว่า ที่ผ่านมาตัวเรือเหาะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ และอากาศยาน ถือเป็นยุทโธปกรณ์เครื่องมือพิเศษ นำมาเสริมประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ในระบบเฝ้าตรวจของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ในช่วงนั้นเพื่อลดการสูญเสียกำลังพล เพิ่มขีดความสามารถในเรื่องการมองเห็น มีคุณสมบัติในทางยุทธวิธี แตกต่างจากเครื่องบิน หรือ ยูเอวี คือ มีความเงียบในการเคลื่อนที่ สามารถบินช้าและลอยตัวได้นาน ลักษณะการจัดหามาใช้งานเป็นระบบที่มีองค์ประกอบหลักของโครงการนี้ 2 รายการ ซึ่งใช้วงเงินรวม ประมาณ 340 ล้านบาท
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า รายการ ที่ 1 คือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ ใช้วงเงิน 209 ล้านบาท มีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ ส่วนตัวเรือเหาะ ใช้วงเงินจัดหา 66.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าร้อยละ 19 ส่วนที่ 2 คือระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 2 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ วงเงิน 87 ล้านบาท ส่วนที่ 3 คือ ระบบสถานีรับสัญญาณ แบบสถานีประจำที่ และสถานีเคลื่อนที่ด้วยรถหุ้มเกราะ วงเงิน 40 ล้านบาท และส่วนที่ 4 คือ โรงเก็บเรือเหาะและอุปกรณ์บริภัณฑ์ภาคพื้น วงเงิน 9 ล้านบาท
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า สำหรับรายการที่ 2 คือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยอากาศยาน ใช้วงเงิน 131 ล้านบาท มีระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 3 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ 3 ชุด เพื่อใช้ติดตั้งกับอากาศยานที่มีอยู่แล้วในอัตราปกติของกองทัพบก โดยที่ผ่านมาภาพรวมของระบบมีเพียงตัวเรือเหาะที่มีปัญหาติดขัดบ้างในระยะแรก ๆ รวมถึงเคยมีการชำรุดหนัก เนื่องจากการลงจอดฉุกเฉินรุนแรงด้วยสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อช่วงปลายปี 2554 แต่กองทัพบกได้ดำเนินการจนเรือเหาะสามารถกลับใช้งานได้ แต่ด้วยวัสดุตัวเรือเหาะมีลักษณะเป็นผ้าใบ จึงอาจมีข้อจำกัดบ้างในเรื่องของอายุการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อเจอสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งในอนาคตกรณีมีการหยุดใช้เรือเหาะในภารกิจของระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายแล้ว ตัวระบบหลักที่เหลือมีสัดส่วนอีกร้อยละ 80 ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ โดยอาจเน้นไปใช้ระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายโดยทางอากาศยานเป็นหลัก.-สำนักข่าวไทย