รัฐสภา 7 พ.ย.- “โรม” ยืนยัน กมธ.ความมั่นคงฯ มีอำนาจตรวจสอบ ปม “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 ชี้ หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำอะไรผิดถือเป็นประโยชน์ที่ได้ชี้แจง อ้าง PDPA ไม่ให้ข้อมูลไม่ได้ เมิน “เสรีพิศุทธ์” ไม่ร่วมให้ข้อมูล บอก เชิญในสถานะบุคคลธรรมดา
นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงการพิจารณาวาระกรณีกรมราชทัณฑ์ ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ว่า เบื้องต้นบุคคลที่ได้มีการเชิญไปแต่ไม่มา อย่างพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวของนายทักษิณ แต่ไม่ว่าจะมาหรือไม่มาเรื่องนี้คงไม่สามารถหยุดให้กรรมาธิการทำการแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม ในกรณีของนายทักษิณที่มีฝ่ายต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนายทักษิณทำทั้งหมดด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ดังนั้นทางกรรมาธิการก็มีความชอบธรรมในการแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป
ทั้งนี้ ไม่ได้วางกรอบการแสวงหาข้อเท็จจริงไว้แต่อยู่ที่ข้อมูลที่ได้รับมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 กรรมาธิการมีหน้าที่อำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง ดังนั้นยืนยันที่จะทำต่อ ถ้าทุกฝ่ายมาให้ข้อชี้แจงกับทางกรรมาธิการก็จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานเองโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ตนยืนยันว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายอยากให้ทำหน้าที่ในการชี้แจงและตอบคำถามกรรมาธิการตนคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะปกป้องตัวเองไม่ว่าจะเป็นข้อครหาหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในข้อกฎหมายด้วย
ส่วนประเด็นที่ทางกรรมาธิการจะสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง มี 2 ประเด็นหลักคือ 1.ป่วยไหมป่วยจริงหรือไม่ และการป่วยเข้าข้อกฎหมายอะไรได้บ้างที่ทำให้นายทักษิณต้องอยู่ที่ชั้น 14 ,2. ในเรื่องของการพบปะบุคคลต่างๆ ตกลงแล้วการอยู่ชั้น 14 คือการถูกควบคุมตัว เสมอเหมือนอยู่ในราชทัณฑ์หรือเรือนจำใช่หรือไม่ แต่ที่มีการพบปะกันราวกับว่าเหมือนนอนอยู่บ้านก็ต้องพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวว่า พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ได้ไปเจอนายทักษิณและยังไม่เห็นข้อโต้แย้งที่มีความชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้กรรมาธิการก็ต้องเอาข้อเท็จจริงออกมาโดยการสอบถามเจ้าหน้าที่ ซึ่งพลตำรวจเอกสุรเชชษฐ์ ยืนยันว่าจะเดินทางมาชี้แจง ก็ต้องได้สอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้เพราะช่วงเวลานั้นถือว่ามีบทบาทหน้าที่ที่หลากหลาย
สำหรับกรณีที่พันตำรวจเอกทวี สอดส่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าการรักษาตัวที่ชั้น 14 ของนายทักษิณเป็นการคุมขังไม่เคยปล่อยสักวินาทีนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หากจะโต้แย้งแบบนั้นก็ต้องบอกว่าสิ่งที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์บอกมาไม่เป็นความจริง หรือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์มีความสามารถพิเศษที่จะฝ่าความปลอดภัยเพื่อเข้าพบนายทักษิณได้ ดังนั้นสิ่งที่พันตำรวจเอกทวี พูดออกมาก็ต้องดูพยานหลักฐานต่างๆใครจะโกหกหรือใครจะพูดความจริงไม่เป็นความจริง วันนี้เราจะได้มาค้นหาข้อเท็จจริงกันว่าตกลงแล้วที่ฝ่ายต่างๆได้พูด ในเรื่องเกี่ยวกับชั้น 14 นั้นเป็นอย่างไรนี่คือบทบาทของกรรมาธิการที่ต้องการแสวงหาข้อมูล
“ส่วนที่มีคนสงสัยว่า เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับความมั่นคง ผมยืนยันว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญสำคัญต่อประเทศชาติมากเป็นกระดูกสันหลังสำหรับเรื่องต่างๆและเราก็มีภารกิจในเรื่องของการปฏิรูปประเทศด้วยกระบวนการยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เราพยายามแสวงหาข้อเท็จจริง”นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เห็นข้อมูลรายละเอียดจากโรงพยาบาลตำรวจ แต่วันนี้เราจะได้สอบถาม ซึ่งมีคำถามอยู่ประมาณ 20-30 คำถาม ที่กรรมาธิการเตรียมกันไว้ หากข้อมูลยังไม่เพียงพอก็จะต้องแสวงหาเพิ่มเติมหรือเรียกเอกสารจากหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากแต่หน่วยงานจะให้หรือไม่ให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าถ้ามั่นใจว่าการทำหน้าที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ต้องกลัวอะไรให้ฝ่ายตรวจสอบเข้าถึงพยานหลักฐานต่างๆได้อย่างเต็มที่และเป็นประโยชน์ที่สุด
ส่วนจะอ้างกฎหมาย PDPA นั้น คงไม่สามารถทำได้เพราะกรรมาธิการ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งเราสามารถเข้าถึงเอกสารหลักฐานต่างๆได้อยู่แล้ว กฎหมาย PDPA ไม่ได้มีข้อยกเว้นในการทำหน้าที่ของสภาหรือกรรมาธิการ
สำหรับกรณีพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ไม่มา ให้ข้อมูลในวันนี้จะขอให้ทำเป็นหนังสือชี้แจงเข้ามาทีหลังหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องดูสถานะปัจจุบันเป็นบุคคลธรรมดา น้ำหนัก จะต่างกับการเชิญเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ถ้าเชิญเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการให้มาซึ่ง ถ้าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมีความผิดอะไรหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทางกรรมาธิการต้องตรวจสอบว่าที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือจากรัฐบาลมีความผิดทางกฎหมายอะไรอีกบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้มาชี้แจงที่เดินทางมาชี้แจงประกอบด้วย นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม , พลตำรวจตรี สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ,นายแพทย์ วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ขณะที่ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แจ้งว่าจะมาชี้แจง แต่เมื่อถึงเวลาประชุม ยัฝไม่เดินทางมาและเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถติดต่อได้
สำหรับผู้ที่แจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ คือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช ,พลตำรวจโทโสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโททวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่จะส่งเอกสารประกอบการพิจารณาภายหลัง .315.-สำนักข่าวไทย