กรุงเทพฯ 25 ต.ค.-กรมศุลกากร นำร่องศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) จ.หนองคาย หวังมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่ม 2 เท่า ช่วง 3 ปี ข้างหน้า ลดขั้นตอนนำเข้า-ส่งออกได้ 60% หนุนส่งออกสินค้าเกษตร ผลไม้ไปยังจีน เดินหน้าคุมเข้มสินค้าไม่ได้มาตรฐานตีตลาดไทย
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service : OSS) จังหวัดหนองคาย เพื่ออำนวยความสะดวก ให้ประชาชนและเอกชนได้รับบริการสะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคขัดขวาง การส่งออก นำเข้าสินค้า และยังเดินหน้าปรับปรุงแพลตฟอร์มกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Thailand National Single Window : Thai NSW) หวังว่าการค้าตามแนวชายแดนจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันการค้าตามแนวชายแดนมูลค่าประมาณ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี ยอมรับว่าการค้าชายแดน มีความสำคัญมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย เพราะเชื่อมโยงทั้งการท่องเที่ยว การค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
กระทรวงการคลัง หวังว่าการเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงานรัฐ ที่รับผิดชอบออกใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก ทำให้ช่วยควบคุมดูแล สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ราคาถูกจากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามายังไทย จากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เติบโตสูงมากในปัจจุบัน จนกระทบต่อเอสเอ็มอีไทย ด้วยการใช้ตู้เอ็กซเรย์สินค้าร้อยเปอร์เซ็น ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อกระจายการติดตั้งไปยังหลายด่านขายแดน สำหรับตรวจสอบสินค้าเสี่ยง ทั้งผิดกฎหมาย ลักลอบนำเข้า ยาเสพติด นับว่าศุลกรกรจับกุมได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กระทรวงคลังยังนำร่อง ระบบ Auto Load เป็นการรับบรรทุกสินค้าส่งออกอัตโนมัติ โดยใช้ กล้อง CCTV ทำการอ่านเลขทะเบียนรถกับหมายเลขตู้คอนเนอร์สินค้า กำลังจะส่งออก ณ ด่านพรมแดนทางบก เมื่อรถผ่านหน้ากล้อง ระบบจะอ่านข้อมูล ถ้าเป็นตู้ตอนเทอเนอร์ที่บรรทุกสินค้าที่ส่งออก ระบบจะส่งข้อมูลเพื่อรับบรรทุกอัตโนมัติ การติดตั้งกล้อง CCTV เชื่อมกับระบบดาวเทียม ติดตามการสำแดง ส่งออก-นำเข้าสินค้า ป้องกันการสำแดงสินค้าแล้วไม่ยอมส่งออก แต่ยื่นเคลมขอคืนภาษีส่งออก เพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหาดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา
นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า ครม. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนและดำเนินการเร่งรัด การจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ณ สำนักงานศุลกากรหนองคาย เพื่อนำร่องเป็นแห่งแรก กรมศุลกากร จึงตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว จังหวัดหนองคาย (Nong Khai Border Trade One Stop Service : NKBTOSS) แห่งนี้จนสำเร็จแห่งแรก เมื่อด่านหนองคายประสบความสำเร็จ มองว่า จะทำให้การค้าชายแดนเติบโตสูงขึ้นมาก
สำหรับการปรับปรุงแพลตฟอร์มกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Thailand National Single Window : Thai NSW) กรมศุลกากรได้นำร่องในกลุ่มสินค้าพืชเกษตร จำนวน 673 พิกัดรายการสินค้า โดยเปิดให้บริการยื่นคำขอเพื่อขอรับใบอนุญาต ใบรับรองประกอบการนำเข้าสินค้าพืชเกษตร ตั้งแต่ 1 กันยายน 2567 รองรับการขอรับใบอนุญาต ใบรับรองสินค้าเกษตร ที่มีการควบคุมร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 415 รายการพิกัดสินค้า โดยผู้นำเข้าสินค้าสามารถยื่นคำขอและส่งข้อมูลเพียงครั้งเดียว และเพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์ OSS
กรมศุลกากรจึงได้พัฒนาระบบ Thailand Trade Journey ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านการนำเข้า – ส่งออก โดยอำนวยความสะดวก ช่องทางการติดต่อกับระบบสารสนเทศกับหลายหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอใบอนุญาตหรือใบรับรองผ่านระบบได้โดยตรง นำร่องสินค้าประเภทผลไม้ จำนวน 22 ชนิด ของหน่วยงาน กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมการค้าต่างประเทศ และการนำเข้าได้นำร่องสินค้าประเภท ผัก ผลไม้ วัตถุอันตราย ปุ๋ย เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ จำนวน 20 รายการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นอกจากนี้เพื่อลดภาระการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และสามารถส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในครั้งเดียว จึงได้มีการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ Single Submission โดยดำเนินการนำร่องกับการนำเข้าสินค้าพืชเกษตรที่มีการควบคุมมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน เช่น สินค้าพืชที่เป็นวัตถุดิบ อาหารสัตว์ ส้มแมนดาริน มันสำปะหลัง กระเทียม ลิ้นจี่ ทุเรียนแช่แข็ง ลำไย เกี่ยวข้องกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมการค้าต่างประเทศ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงช่วยลดระยะเวลากรอกข้อมูลลงถึง 60% นับเป็นการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ.-515.-สำนักข่าวไทย