รัฐสภา 25 ก.ย.- อนุ กมธ.ศึกษา การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ สรุปผลการศึกษา พบ บ.เอกชนนำเข้าเพียง 1 ราย ขณะกรมประมงชี้การแพร่ระบาด คาดสาเหตุจากการเคลื่อนย้าย พร้อมแนะเร่งฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาด ย้ำ พอใจผลการศึกษาในระดับหนึ่ง ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ แต่มีอำนาจตัดสินถูกผิด เตรียมตรวจการบ้านอย่างต่อเนื่อง แม้อนุ กมธ.หมดหน้าที่
นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย พร้อมคณะ แถลงสรุปผลโดยไล่เลียงผลการศึกษา ตั้งแต่การนำเข้าปลาหมอคางดำมาในประเทศไทย ซึ่งพบว่า มีเอกชนเพียงรายเดียวที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำ เข้ามาในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2549 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้ามากับกรมประมง ซึ่งกรมประมงได้มอบหมายให้คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือไอบีซี เป็นผู้พิจารณา จากนั้น ปี 2553 บริษัทขออนุญาตกรมประมงอีกครั้ง และได้อนุญาตนำเข้าประหมอคางดำ 2,000 ตัว จากสาธารณะรัฐกานา โดยแจ้งว่ามีเป้าประสงค์เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ที่ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และได้ทำข้อตกลงกับไอบีซี แต่ทั้งนี้ปลารอดชีวิตจากการขนส่งมาได้เพียง 600 ตัว และได้ทยอยตายในบ่ออนุบาลจนเกือบหมดภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ บริษัทจึงไม่สามารถทำการวิจัยได้และได้มีการทำลายและฝังกลบปลา พร้อมเก็บซากปลาใส่ขวดโหลดองน้ำยาสองขวด ส่งมอบให้กับกรมประมงตามเงื่อนไข แต่จากคำชี้แจงของกรมประมงไม่พบบันทึกการรับมอบขวดโหล ต่อมาเมื่อปี 2560 พบการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี กรมประมงจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และได้เก็บตัวอย่างขึ้นมาถอดรหัสพันธุกรรมไว้ในคลังและฐานข้อมูลของกรมประมง พร้อมกันนี้ กรมประมงยังบ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมีลักษณะเป็นหย่อมๆ ไม่เชื่อมต่อกัน ดังนั้นการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่อาจมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำ โดยการกระทำของมนุษย์มากกว่าการแพร่กระจายไปตามเส้นทางน้ำ ซึ่งหลังจากนั้น การแพร่ระบาดทวีความรุนแรงขึ้นทำให้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท มาดำเนินการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมมาธิการเห็นว่า รัฐควรดำเนินการเสาะหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามกฎหมายและยังเห็นว่ากระทรวงต่างๆ ควรบูรณาการและเร่งแก้ปัญหาฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดอย่างเป็นระบบ
นายแพทย์วาโย กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ย.) จะสรุปเป็นข้อเสนอแนะ 26 ข้อ โดยจะมีการไล่เรียง ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตที่พบจากการศึกษาตามระยะเวลา สรุปให้ประชาชนได้เข้าใจง่าย และจะมีการเผยแพร่ตัวฉบับเต็มกับสื่อมวลชน ประชาชน ให้ทุกคนสามารถดาวน์โหลดข้อมูล เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูล และพยานหลักฐานต่างๆ ได้ และสามารถที่จะนำไปประกอบเพื่อดำเนินกิจการใดๆต่อไป
นานแพทย์วาโย กล่าวว่า ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เราสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ความพอใจที่เกิดขึ้น คืออย่างน้อยทำให้ได้รับทราบปัญหาที่แท้จริงจากประชาชน รวมถึงปัญหาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหลายฝ่ายมีความอึดอัด เมื่อคณะได้ทราบปัญหา ได้มีการไล่เรียงทีละคำตอบ สุดท้ายในทุกคำตอบของปัญหา ก็ถูกร้อยเรียงมาจนบทสุดท้ายว่า จะต้องมีคนที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะต้องลงมือทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติก็ยังมีกรอบการทำงานที่แคบอยู่ จึงทำได้เพียงข้อเสนอแนะ ดังนั้นคิดว่าในข้อเสนอแนะและบทสรุปของคณะอนุกรรมาธิการ ถ้าหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ สามารถนำข้อเสนอแนะไปใช้ ข้อมูลนี้น่าจะเป็นหนึ่งในเล่มของการศึกษาที่มีข้อมูลที่หนักแน่นและครอบคลุมมากที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศไทยเพื่อมอบให้หน่วยงานต่างๆ เป็นข้อมูลเสริม รวมทั้งจะส่งข้อมูลนี้ไปยังภาคเอกชน มูลนิธิ ภาคีเครือข่ายต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อแนะนำ และมีข้อปฏิบัติต่อไป ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการไม่มีอำนาจในการตัดสินผิดถูก แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องไปพิจารณาต่อ
ทั้งนี้ แม้คณะอนุกรรมาธิการจะสิ้นสุดลง แต่ย้ำว่ายังคงทำหน้าที่ สส. ในการติดตามความคืบหน้า แลพวางแผนไว้ว่าจะไม่ให้จบแค่นี้ โดยจะนำเรื่องนี้เข้ามาติดตามและตรวจการบ้านอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ และนำเข้าที่ประชุมในคณะกรรมาธิการ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ต่อไป.-315 -สำนักข่าวไทย