รัฐสภา 17 ก.ย.- “วันนอร์” ยังไม่ได้รับหนังสือจากศาลนราธิวาส เรียกตัว สส.เพื่อไทย จำเลยคดีตากใบ ชี้ กฎหมายให้การคุ้มครองสมาชิก ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ ว่าจะอนุญาตให้ส่งตัวหรือไม่
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลจังหวัดนราธิวาส ส่งหนังสือมาถึงสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอออกหมายเรียก พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.พรรคเพื่อไทย จำเลยในคดีตากใบ ว่า ตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิ์สมาชิกรัฐสภา ระบุไว้ว่า หากศาลเห็นว่า จะต้องดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุมหรือนอกสมัยประชุม สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการประชุมสมาชิกรัฐสภา หรือไปรบกวนการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถือเป็นเนื้อหาใหม่ที่เติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้เห็นว่าอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการนั้นแยกออกจากกัน
อย่างไรก็ตามกรณี พล.อ.พิศาล ยังไม่มีหนังสือจากศาลส่งมาที่ตน และทางศาลก็ได้เตรียมออกหมายเรียกด้วย แต่ทางสภาฯ ยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว หากสภาฯ ได้รับเอกสารแล้ว จะรีบพิจารณาโดยเร็ว พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการรับฟังนโยบายจากพรรคเพื่อไทยหรือฝ่ายใดๆ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเนื้อหาใหม่ที่เพิ่มเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก็ไม่เคยมีกรณีในลักษณะนี้เลย
ส่วนกรณีที่ พล.อ.พิศาล ได้ลาประชุมไปในระยะหนึ่ง นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า หนังสือลาประชุมไม่ได้ถูกส่งมาที่ตน เพราะปกติแล้วหนังสือลาประชุมจะถูกส่งไปที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเหตุผลของการลา ซึ่งเป็นสิทธิ์ของสมาชิก
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาเยมีกรณีศาลจังหวัดพัทยาในคดีของนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็มีการดำเนินคดี แต่ไม่ได้มีการจับกุม หรือนำตัวนายอดิศรไปศาล แต่ส่งทนายไปเป็นตัวแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะดำเนินการอย่างไร
ด้านว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีหากศาลจังหวัดนราธิวาสมีหนังสือมาถึงสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอจับกุมดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภา หลักความคุ้มกันก็จะเป็นไปตามที่ประธานรัฐสภาได้กล่าวไว้ โดยมีความเป็นมาคือ เพื่อคุ้มครองสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติในการปฏิบัติหน้าที่ หากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการจะดำเนินการใดๆ ในสมัยการประชุม จะต้องขออนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะมีการทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ให้เปิดประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาว่าจะให้ส่งตัวไปดำเนินคดีได้หรือไม่
ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ ยังได้ยกตัวอย่างคดีในอดีตที่สมาชิกรัฐสภาประสงค์ไม่ใช้สิทธิ์ในการคุ้มกัน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในคดี แต่ตามปกติที่ประชุมรัฐสภาจะไม่อนุญาต เนื่องจากจะต้องมองภาพรวมในสถาบันนิติบัญญัติว่า ต้องมีหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ในสมัยประชุม แม้ตัวสมาชิกจะประสงค์สละสิทธิ์นั้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะอนุญาตหรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับหนังสือขอลาของ พล.อ.พิศาล ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ กล่าวว่า จะต้องไปตรวจสอบที่สำนักบริหารงานกลาง เพื่อดูในรายละเอียดต่อไป.-312 -สำนักข่าวไทย