โคราช 15 ก.ย.- หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่เขื่อนลำตะคอง โคราช น่าห่วง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ “น้ำน้อยวิกฤติ” เหลือใช้แค่ 22% เท่านั้น หวั่นไม่มีน้ำผลิตประปา รอฝนช่วยเติมน้ำ
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา โดยโครงการชลประทานนครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์น้ำเก็บกักในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง เหลือน้ำเฉลี่ย 353.35 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.91 % และเป็นน้ำใช้การได้แค่ 315.91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37.25 % โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคองที่ส่งจ่ายน้ำหล่อเลี้ยงชาวโคราชถึง 5 อำเภอ ปัจจุบันเหลือน้ำอยู่ที่ 88.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 28.28 % เท่านั้น และเป็นน้ำใช้การได้แค่ 66.20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 22.69 %
ถือว่าปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ “น้ำน้อยวิกฤติ” ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง เหลือน้ำอยู่ที่ 60.11 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.79 % เป็นน้ำใช้การได้ 59.39 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.50% ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน เหลือน้ำอยู่ที่ 71.39 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 50.64 % เป็นน้ำใช้การได้ 64.39 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 48.06 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ เหลือน้ำอยู่ที่ 132.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 48.33 % และเป็นน้ำใช้การได้ 125.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 46.99 % ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 23 แห่ง เหลือน้ำเก็บกักรวม ล่าสุดอยู่ที่ 137.99 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 30.73 % และเป็นน้ำใช้การได้ 20.82 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.47 %
สรุปอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และขนาดกลาง 23 แห่ง รวมทั้งหมด 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีน้ำเก็บกักรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 491.35 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40.25 % จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม โดยส่งจ่ายให้ประชาชนได้ใช้อุปโภค-บริโภคเป็นลำดับแรก ส่วนภาคการเกษตรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกนี้ ให้ใช้น้ำฝนไปก่อน แต่หากฝนไม่ตกหรือฝนทิ้งช่วงนาน ก็ต้องส่งจ่ายน้ำไปช่วยพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานด้วย ซึ่งมีอยู่กว่า 150,000 ไร่ทำให้ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว อ่างเก็บน้ำทั้ง 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา จึงยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกจำนวนมาก
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้ออกประกาศล่าสุด ฉบับที่ 4 (43/2567) เช้าวันนี้ เวลา 06.00 น. เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 15-17 กันยายน 2567 โดยจังหวัดที่คาดว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 15 กันยายน 2567 มีโอกาสเกิดฝน 80 % ของพื้นที่ ได้แก่ บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนช่วงวันที่ 16-17 กันยายน 2567 คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีโอกาสเกิดฝน 60-70 % ของพื้นที่ ได้แก่ บริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี – สำนักข่าวไทย