บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์ว่า เก็บข้าวเหนียวในกระติกพลาสติก อาจมีสารปนเปื้อนจากพลาสติกสู่ข้าวเหนียวได้ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.บุศรินทร์ จงเจริญยานนท์ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่แชร์กันว่ามีการละลายของพลาสติกลงไปในเนื้อของข้าวเหนียว เรื่องนี้คงจะไม่เห็นการละลายของพลาสติกด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน แต่มีโอกาสที่สารเคมีจากตัวเนื้อพลาสติกส่วนที่สัมผัสกับข้าวเหนียวโดยตรง สามารถแพร่ออกมาที่ตัวข้าวเหนียวได้ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “ปรากฏการณ์ไมเกรชัน” (Migration)
ปรากฏการณ์ไมเกรชัน หมายถึง การเคลื่อนย้าย หรือการแพร่กระจายของสารจากภาชนะบรรจุ หรือวัสดุสัมผัสอาหารลงสู่อาหาร
มีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมปรากฏการณ์ไมเกรชัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อพลาสติกเอง และชนิดของอาหาร ตัวเนื้อพลาสติกที่สัมผัสกับอาหาร “เปรี้ยว” หรืออาหาร “มัน” การแพร่สารลงไปจะได้มากขึ้น หรือปัจจัยที่เด่น ๆ ก็คือเรื่อง “อุณหภูมิ”
อุณหภูมิยิ่งสูงก็จะยิ่งทำให้สารแพร่จากพลาสติกไปได้มากขึ้น และยังมีอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ “ระยะเวลา”
การเก็บอาหารไว้ในภาชนะพลาสติกนานมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มการแพร่ของสารเคมีลงไปในอาหารได้มากขึ้น
กรณีของ “ข้าวเหนียว” ที่ใส่กระติกน้ำแข็ง (กระติกพลาสติก) ตัวอุณหภูมิเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นการแพร่ของสารจากเนื้อพลาสติกไปสู่ข้าวเหนียวได้
ผ้าไนลอนบาง ๆ ที่ใช้คลุมข้าวเหนียว เส้นใยสังเคราะห์สามารถละลายได้เมื่อสัมผัสความร้อน จริงหรือ ?
ผ้าขาวบางที่ทำจากไนลอน (Nylon หรือ Polyamide) ถือได้ว่าเป็นโพลิเมอร์พลาสติกชนิดหนึ่ง ซึ่งกรณีพลาสติกที่เป็นผ้าไนลอนก็คล้าย ๆ กัน มีโอกาสที่สารจากไนลอนจะซึมหรือแพร่มาสู่เนื้อข้าวเหนียวได้
การนำข้าวเหนียวใส่ถุงร้อน แล้วเก็บในกระติกพลาสติก ปลอดภัยหรือไม่ ?
ถุงร้อนก็คือถุงที่ทำจากพลาสติก โพลีโพรพิลีน (Polypropylene : PP)
สำหรับถุงร้อน PP มีคุณสมบัติเด่นคือสามารถทนความร้อนได้สูง (มากกว่า 100 องศาเซลเซียส) เพราะฉะนั้นตัวข้าวเหนียวก็จะไม่ร้อนไปกว่าน้ำเดือด (100 องศาเซลเซียส) อยู่แล้ว
ดังนั้น ถุงพลาสติก PP เหมาะกับการใส่ข้าวเหนียวร้อน ๆ มากกว่าที่จะนำข้าวเหนียวร้อน ๆ แล้วเทลงไปในกระติกพลาสติกโดยตรง
การนำข้าวเหนียวร้อนจัด ใส่ภาชนะโลหะขนาดใหญ่ เหมาะสมหรือไม่ ?
ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี แต่ต้องเลือกภาชนะโลหะที่ได้มาตรฐานเช่นกัน
มีการเรียงลำดับโอกาสที่สารจะแพร่ได้จากวัสดุต่าง ๆ กระดาษ พลาสติก
โอกาสน้อยลงมาก็จะเป็นกลุ่มของโลหะ เซรามิก และ แก้ว กลุ่มนี้โอกาสเกิดปรากฏการณ์ไมเกรชันได้น้อยลง
ดังนั้น การใช้ภาชนะโลหะเป็นทางเลือกที่ดี แต่มีข้อด้อยก็คือ “เก็บความร้อน” ได้สั้นกว่าตัวกระติกน้ำแข็ง
การเลือกใช้ภาชนะ และ/หรือ วัสดุสัมผัสอาหาร ให้มองวัตถุประสงค์การใช้งาน ถ้าตัวภาชนะนั้น ๆ ผลิตมาสำหรับใส่อาหารเย็น ก็ไม่ควรนำมาใส่ของร้อน ซึ่งเป็นการใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์
พ่อค้าแม่ค้าที่ขายข้าวเหนียว ควรเก็บข้าวเหนียวอย่างไร ?
ควรใช้ตัวบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุ PP หรือถุงร้อน ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
นั่นคือ นำข้าวเหนียวใส่ถุงร้อนก่อน จากนั้นนำข้าวเหนียวที่ยังร้อน ๆ อยู่ในถุงร้อน ใส่ลงไปในกระติกน้ำแข็ง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่สารจากเนื้อพลาสติกของตัวกระติกน้ำแข็งจะแพร่เข้ามาที่เนื้อข้าวเหนียวได้
อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ “ความสะอาด” ไม่ว่าจะเป็นความสะอาดของตัวกระติก ความสะอาดของผู้ที่สัมผัสกับอาหาร ตรงนี้ก็มีความจำเป็นมากด้วย
📌 สรุป : ชัวร์ แชร์ได้
เป็นความจริง เรื่องการใช้ “กระติกพลาสติก” เก็บน้ำแข็งเก็บความเย็น มาใส่ข้าวเหนียวร้อน ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
เรื่องการใช้ “ผ้าขาวบางที่ทำจากไนลอน” มารองก่อนที่จะใส่ข้าวเหนียวลงไปในกระติก ก็เป็นอันตรายเช่นกัน
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : เก็บข้าวเหนียวในกระติกพลาสติก อาจมีสารปนเปื้อนได้ จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter