สสส. 5 ก.ย.- นักวิชาการ เผยผลสำรวจความสุขราชการไทยยุค 4.0 พบ ส่วนใหญ่ป่วย เบาหวาน ความดันโลหิตและภูมิแพ้มากขึ้น จากอุปกรณ์สำนักงาน ขณะที่ความรักในอาชีพของเด็กรุ่นใหม่มีน้อย ส่วนใหญ่อยากเป็นข้าราชการเพราะความมั่นคง และเสถียรภาพทางการเงินที่มากกว่าอาชีพอื่น
นายศิริเชษฐ์ สังขะมาน หัวหน้าโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงาน และเสริมสร้างศักยภาพองค์กร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการสำรวจความสุขของราชการไทย 4.0 ว่า จากการเก็บข้อมูลคนในองค์กรภาครัฐ ปี 2560 จำนวน 1,912 คน พบว่า 1 ใน 3 ของข้าราชการ เสี่ยง 3 โรค ได้แก่ ความดัน ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และยังมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคออฟฟิตซินโดรม มีอาการภูมิแพ้ถี่ขึ้น จากเอกสารในสำนักงาน อุปกรณ์อาคารเก่า และมีภาวะเหนื่อยนิ่ง ออกกำลังกายน้อย และพบว่า 1ใน 5 มีภาวะเครียดจากการทำงานระดับสูง และแม้ว่าการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไม่ใช่ปัญหาในระบบราชการ แต่พบว่า ร้อยละ 6 มีการดื่มหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ แต่กลุ่มเจนวาย ร้อยละ 90 แม้ไม่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ แต่พบว่า มีแนวโน้มภาระหนี้สินมากขึ้น จากปี 2553 เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาท ปัจจุบัน 2560 อยู่ที่ 1-3 ล้านบาท โดยหนี้สินอันดับแรกเป็นที่อยู่อาศัย รองลงมาเป็นหนี้เงินผ่อนชำระสินค้า
นายศิริเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับแรงจูงใจที่ทำให้คนแต่ละรุ่น่ในระบบราชการไม่แตกต่างกันมากนัก ในกลุ่มของเบบี้บูม และเจนเอ็กซ์ เน้นเรื่องความมั่นคง ตามด้วยความรักอาชีพ ส่วนกลุ่มเจนวาย ให้ความสำคัญกับความมั่นคง ตามมาด้วยรายได้เนื่องจากข้าราชการมักได้รับเครดิต การลดหย่อนผ่อนชำระมากกว่าอาชีพอื่นและสวัสดิการ ซึ่งปัจจุบันไม่แตกต่างจากเอกชน ดังนั้นความแตกต่างระหว่างการทำงานในภาครัฐ และเอกชน คือเรื่องของความมั่นคง และระบบสวัสดิการ
นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการ กพ.กล่าวว่า ในยุค 4.0 ความสุข จากการทำงานนับเป็นเรื่องสำคัญ งานของราชการไทย จะมีความสุขได้ ต้องทำแบบบูรณาการ ไม่ทำงานเพียงคนเดียวต้องทำร่วมกัน ผ่านทั้งทุกข์ และสุข ร่วมกัน เกิดการพัฒนาต่อยอด อาจไม่ใช่นวัตกรรม เพียงพัฒนางานให้ดีกว่าเดิม ในงานที่ตัวเองทำ คนส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานมากกว่าที่บ้าน ฉะนั้นทำอย่างไรให้การทำงานมีความสุข มีความสุขอยู่กับเพื่อนร่วมงาน เป็นสิ่งที่ข้าราชการในยุค 4.0 ต้องปฏิบัติร่วมกัน พร้อมจะมีการส่งเสริมให้มีการทำงานนอกสถานที่ได้ เพื่อความสะดวก และเพิ่มความสุขในการทำงาน จึงจำเป็นต้องมีการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย .-สำนักข่าวไทย