กรุงเทพฯ 24 ต.ค. – นายสุรพล ชามาตย์ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุการณ์ปลากระเบนตายในแม่น้ำแม่กลอง ว่า จากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและตรวจวัดคุณภาพน้ำ 7 จุด พบค่าออกซิเจนละลาย (DO) ประมาณ 1.8-3.1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าปกติที่ต้องเกิน 4 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีค่าความเค็ม ค่าการนำไฟฟ้า และค่าของแข็งที่ละลายในน้ำอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งอาจเกิดจากน้ำทะเลหนุน หรืออาจมาจากสารปนเปื้อนในน้ำ หรือทั้ง 2 อย่าง และปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลง โดยค่าน้ำในแม่น้ำแม่กลองเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
ส่วนสาเหตุการตายของปลากระเบนนั้น ผลการวิเคราะห์ซากปลากระเบนของ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบมีสารไซยาไนด์ตกค้าง แต่การตรวจสอบโรงงานและการระบายน้ำทิ้งของโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ปรากฏว่าไม่มีโรงงานใดใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิต ส่วนใหญ่จะมีการใช้ไซยาไนด์สำหรับการบ่มเพาะในงานเกษตรกรรม การใช้ยาฆ่าแมลงและยาปราบวัชพืช ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะใช้ในอุตสาหกรรมเหล็ก การชุบโลหะ และการผลิตเมลามีน และจากสถิติคุณภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลองย้อนหลังที่จัดเก็บโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันตก กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นหน้าฝนค่า DO จะมีปริมาณต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 2-4 มิลลิกรัมต่อลิตร เพราะมีการชะของน้ำฝนลงน้ำผิวดินจากภาคเกษตร การระบายน้ำทิ้งของชุมชนและภาคอุตสาหกรรมไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง
“จังหวัดกาญจนบุรีไม่มีโรงงานใดที่ใช้สารเคมีตั้งอยู่ ส่วนโรงงานที่มีการระบายน้ำทิ้งในสมุทรสงคราม 8 โรง ราชบุรี 19 โรง เก็บตัวอย่างครบถ้วนแล้วทุกโรง ซึ่งผลคุณภาพน้ำจะออกมาประมาณสัปดาห์นี้ สำหรับโรงงานราชบุรีเอทานอลที่พบการระบายน้ำทิ้งมีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากมีอุบัติเหตุน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วรั่วไหลสู่คลองแฉลบและไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว โดยเปรียบเทียบปรับรวมเป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และออกคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน” นายสุรพล กล่าว
นอกจากนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ (ค.พ.) ได้ทำโมเดลจำลองในการสืบค้นข้อเท็จจริง เพื่อหาค่าไนโตรเจนและแอมโมเนียด้วย เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญส่งผลตรวจสอบปลากระเบนที่ตายพบค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) สูงผิดปกติ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีระดับไนโตรเจน หรือแอมโมเนียในเลือดปลาสูงและสาเหตุการตายอาจเกิดมาจากการล้มเหลวของไตปลากระเบน และกลไกที่ตั้งไว้เป็นสมมติฐาน คือ การที่ระดับแอมโมเนียในแหล่งน้ำสูง โดยกากน้ำตาลจะมีระดับแอมโมเนียสูง ซึ่งอาจเกิดจากการระบายน้ำเสียของโรงงาน จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำเสียจากโรงงาน เพื่อนำมาทดสอบในห้องปฏิบัติการด้วยการศึกษาแบบจำลองสถานการณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสาเหตุว่ามาจากโรงงานราชบุรีเอทานอลหรือไม่ และหากพบว่าเป็นต้นเหตุจะมีการฟ้องร้องทางคดีตามกฎหมายให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย