ตลิ่งชัน 3 ก.ย.-นักวิชาการด้านโบราณคดี แนะภาครัฐ ควรกระจายอำนาจสู่คนท้องถิ่น แก้ปัญหาบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่ไร้ความประณีต หยุดบูรณะแบบจ้างเหมา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะโบราณคดี และหลักสูตรอนุรักษ์ศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเสวนาวิชาการเเก้ไขปัญหาการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารในหัวข้อเรื่อง พระปรางค์วัดอรุณ : อันเนื่องมาจากการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี นักประวัติศาสตร์หลายคนร่วมวงเสวนา เล่าประวัติความเป็นมาของวัดอรุณฯ พร้อมเสนอแนะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ซึ่งเป็นโบราณสถานสืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2
ศาตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา กล่าวว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ ถือเป็นศิลปวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์กับบริบทของคนในสังคมวงกว้าง วัดอรุณฯ เป็นศูนย์กลางทิวทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์ ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพราะ ฉะนั้นทำอะไรต้องมีความระมัดระวัง คงไว้ซึ่งความโดดเด่นของวัด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น กรมศิลปากรใช้วิธีประกวดราคาจ้างผู้รับเหมา ทำให้มีเวลาที่จำกัด ซึ่งงานศิลปะต้องใช้เวลา มีความละเอียดอ่อน ดังนั้นภาครัฐ ควรกระจายอำนาจสู่คนในท้องถิ่น เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ และยังช่วยแก้ปัญหางานล้นมือของกรมศิลปากรที่มีงบประมาณอยู่อย่างจำกัด
ด้านศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งคำถามว่า กรมศิลปากรมีกระบวนการจ้างผู้ รับเหมา ออกแบบ ทำสัญญาอย่างไร มีการทำวิจัยก่อนหรือไม่ ต้องมีการวิจัยประเมินสภาพคุณค่า ความเสียหาย ก่อนลงมือบูรณะ ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนการทำงานที่หละหลวมของผู้รับเหมา และการกำหนดทีโออาร์ที่ไม่รัดกุม ขาดความรอบคอบ จึงเสนอว่ารัฐ ควรหยุดการบูรณะแบบจ้างเหมา ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบแก้ไขวัดอรุณฯ ให้คงสภาพโบราณสถานมากที่สุด ในระยะยาว รัฐควรปรับแก้ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ หากจะมีการบูรณะโบราณสถานสำคัญของประเทศอีก ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีอำนาจเหนือกรมศิลปากร ในลักษณะของบอร์ด เพื่อให้ร่วมกันตัดสินใจ ไม่ใช่ผูกขาดกับกรมศิลปากรเพียงฝ่ายเดียว
ขณะที่ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปนิก สำนักสถา ปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า กระแสดราม่าที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงความสนใจของคนในสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์อย่างรอบคอบ เช่น ประเด็นที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์สีของพระปรางค์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสีขาว คือสีดั้งเดิมของพระปรางค์ แม้การบูรณะครั้งนี้กรมศิลปากรไม่ได้เปลี่ยนแปลงลวดลาย แต่ยอมรับช่างขาดความประณีต บดบังความงดงามของพระปรางค์ ดังนั้นควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากวัดอรุณฯเป็นสมบัติของชาติ ทั้งนี้โครงการบูรณะพระปรางค์และพระมณฑป วัดอรุณฯ เริ่มตั้งแต่ปี 2556 – 2560 หมดสัญญาช่วงเดือนตุลาคมนี้.-สำนักข่าวไทย