ลอนดอน 16 ส.ค. – นักวิจัยในอังกฤษลงพื้นที่เพื่อไปตรวจสอบสโตนเฮนจ์ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ พบว่าแหล่งกำเนิดของหินนั้น อยู่ห่างไกลจากจุดก่อสร้างมากๆ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า คนโบราณลำเลียงหินขนาดใหญ่น้ำหนักมากมาถึงที่ตั้งแห่งนี้ได้อย่างไร
การเผยผลวิจัยใหม่ล่าสุดนี้ ถูกนำลงตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ (Nature) โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอังกฤษ ตรวจสอบแท่นหินแท่นบูชาซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางอนุสรณ์สถานสโตนเฮนจ์ ในที่ราบเทศมณฑลซอลส์บรี ทางตอนใต้ของอังกฤษพอดี เป็นส่วนที่ให้ยืนดูพระอาทิตย์ขึ้นระหว่างก้อนหินอื่นๆ นักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยาพบว่า แร่ธาตุในหินแท่นบูชาเข้ากันได้ดีกับชั้นหินแข็งที่พบในแอ่งออร์คาเดียน (Orcadian Basin) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ แปลว่าแท่นหินบูชานี้ มีแหล่งกำเนิดมาจากแอ่งดังกล่าว
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะนี่หมายความว่าแท่นหินน้ำหนัก 6 ตัน ถูกเคลื่อยย้ายมาไกลมากจากแหล่งกำเนิดในสกอตแลนด์ ที่อยู่ห่างจากเทศมณฑลซอลส์บรีออกไปกว่า 650 กิโลเมตร จึงเกิดการตั้งคำถามว่า คนโบราณเมื่อราว 3,000 ปีที่แล้ว สามารถขนและลำเลียงหินที่หนักมากมาถึงที่ตั้งปัจจุบันได้อย่างไร อีกทั้งยังเป็นการพลิกความเชื่อของผู้คนก่อนหน้านี้ ที่เชื่อกันว่า หินแท่นบูชามีต้นกำเนิดมาจากเวลส์ เช่นเดียวกับหินขนาดใหญ่ชิ้นอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ที่มาและวัตถุประสงค์ของหินแท่นบูชา ยังคงเป็นปริศนาอย่างหนึ่งของอนุสรณ์สถานหินขนาดใหญ่นี้ อีกทั้งความท้าทายในการเคลื่อนย้ายหินจำนวนมหาศาลในระยะทางไกลเช่นนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของหินนี้ ต่อผู้สร้างสโตนเฮนจ์ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล และปัจจุบัน ยังคงเป็นสถานที่ที่น่าหลงใหลและลึกลับ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก.-815.-สำนักข่าวไทย