สำนักข่าวไทย 1 ก.ย.-จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ แจงเหตุพิจารณาโทษ “เนติวิทย์”สภานิสิตจุฬาฯและพวก หลังสถานิสิตจุฬาฯออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งถูกลงโทษทางวินัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ “ความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2560 (ฉบับที่ 3) หลังสภานิสิตจุฬาลงกรณ์ออกมาเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยชี้แจงรายละเอียดการลงโทษทางวินัยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลและพวก โดยระบุว่าสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ฯของนิสิตชั้นปีที่หนึ่งเมื่อวันที่ 3สิงหาคมที่ผ่านมา ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีกระบวนการดำเนินการทั้งในส่วนของอาจารย์และนิสิตที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ตามที่ได้นำเสนอข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบผ่านสื่อของมหาวิทยาลัยเป็นระยะแล้วนั้น โดยปกติมหาวิทยาลัยจะไม่เปิดเผยการลงโทษนิสิต หากแต่ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยจึงมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับสาธารณะถึงกรณีดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน
ในกรณีนี้ คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตในการประชุมครั้งที่ 5/2560เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนิสิตทั้ง 8 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดวินัยนิสิต เนื่องจากนิสิตทั้ง 8 รายซึ่งเป็นตัวแทนสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมิได้ประพฤติปฏิบัติตัวตามบทบาทหน้าที่ที่พึงจะเป็น โดยทั้งๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่า ตนมีทัศนะที่ไม่ตรงกับขนบธรรมเนียมประเพณีของมหาวิทยาลัยในการถวายสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อแสดงตนเป็นนิสิตใหม่ และมหาวิทยาลัยซึ่งตระหนักถึงเสรีภาพทางความคิดของนิสิตได้จัดพื้นที่พิเศษสำหรับนิสิตกลุ่มนี้ไว้แล้ว นิสิตก็ยังแสดงความจำนงเข้าร่วมพิธีในฐานะสภานิสิต แต่ไม่ยืนอยู่ในแถวตามที่ผู้เป็นผู้แทนสภานิสิตพึงกระทำจนกว่าพิธีการจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย กลับนัดหมายกันเดินออกจากแถวเพื่อไปทำความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ด้วยการโค้งคำนับเพื่อให้แตกต่างและปรากฏภาพที่ขัดแย้งกับนิสิตคนอื่นที่เข้าร่วมถวายสักการะด้วยการถวายบังคม จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยส่งผลทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย
อีกทั้งนิสิตยังได้เผยแพร่ข้อมูลที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสร้างให้เรื่องราวที่ดูเสมือนความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัยและสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน โดยเฉพาะของประชาคมทั้งนิสิต บุคลากร และนิสิตเก่าอื่นๆ ที่ให้คุณค่าและมีศรัทธาต่อพิธีถวายบังคมเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระผู้พระราชทานกำเนิดและพระผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัย และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนอันเป็นที่หล่อหลอมนิสิตใหม่เข้าสู่การเป็นสมาชิกใหม่ตามประเพณีและขนบธรรมเนียมของมหาวิทยาลัย จึงเสนอมหาวิทยาลัยให้ลงโทษนิสิตทั้ง 8 รายด้วยการตัดคะแนนความประพฤติ
อนึ่ง ในส่วนของการสอบสวนและประมวลข้อเท็จจริงในส่วนของอาจารย์ ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน แต่ยังขาดผลการให้ข้อเท็จจริงในส่วนของนิสิตที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่ว่างมาให้ข้อเท็จจริง แต่ได้นัดหมายจะมาในวันที่ 4 กันยายน ที่จะถึงนี้ จึงคาดว่าน่าจะสามารถสรุปผลได้ในเวลาอันใกล้
ด้านนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ‘ผมได้รับคำสั่งจากทางจุฬาฯ ให้ปลดผม และเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก3คนที่กรรมาธิการสภาด้วยทำให้ผมพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อหาหนึ่่่งคือการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังปัญหาของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตัดสิน ส่วนท่านอาจารย์ที่ได้ล็อกคอนิสิตนั้น มหาวิทยาลัยได้ตั้งกรรมการสอบสวนด้วย แต่ผลการตัดสิน ณ ตอนนี้ยังไม่มีผลออกมา ทั้งๆ ที่ มหาวิทยาลัยได้เริ่มกระบวนการสอบสวนก่อนผมและเพื่อนๆ เสียอีก อย่างไรก็ดี ทางเราจะยังต่อสู้ต่อไปโดยอุทธรณ์ต่อทางมหาวิทยาลัย’
สำหรับแถลงการณ์ของสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีคำสั่งที่ 4929/2560เรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง กรณีที่สมาชิกสภานิสิตสามัญถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตจำนวน 25 คะแนน ในข้อกล่าวหาที่ว่าสมาชิกสภานิสิตสามัญกลุ่มนี้ได้ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2560 ตามคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ 4928/2560
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันมาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไป
นอกจากนี้ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังขอแสดงความกังวลต่อกระบวนการสอบสวนทางวินัยกับอาจารย์ที่เข้าไปทำร้ายร่างกายนิสิตที่ไม่มีความคืบหน้าออกมาแต่อย่างใด ให้เกิดความเป็นธรรมต่อนิสิตที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วย สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 31 สิงหาคม พ.ศ.2560.-สำนักข่าวไทย