ทำเนียบ 7 ส.ค.-นายกฯ ให้ความสำคัญความปลอดภัยของผู้บริโภค เน้นย้ำมาตรฐานการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ ดัน 5 มาตรการ สกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพและผิดกฎหมาย ปกป้องผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการยกระดับ การตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ ป้องกันการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับลูกดำเนินมาตรการตรวจสอบรัดกุม รอบด้าน เน้นการควบคุมความปลอดภัย ผลักดันมาตรฐานและคุณภาพในการนำเข้าสินค้า และคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
นายชัย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ คน อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และวัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบก่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยจะมีด่านอาหารและยาทั่วประเทศ 52 แห่ง พร้อมกันนี้ อย. เปิดเผยข้อมูลการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผ่านระบบ National Single Window (NWS) โดยในปี 2566 ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวน 1,693,236 รายการ มูลค่า 4.40 แสนล้านบาท และในปี 2567 มียอดนำเข้าฯ สะสมถึง 1,307,194 รายการ มูลค่า 3.41 ล้านบาท ซึ่งสามารถแบ่งเป็นการนำเข้าในผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละประเภท
โดยจากข้อมูลผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่นำเข้าตั้งแต่ ตุลาคม 2566 ถึง มิถุนายน 2567 ดังนี้
1.เครื่องมือแพทย์ 527,863 รายการ มูลค่า 57,699 ล้านบาท
2.อาหาร 445,591 รายการ มูลค่า 170,165 ล้านบาท
3.เครื่องสำอาง 298,165 รายการ มูลค่า 27,922 ล้านบาท
4.ยา 32,533 รายการ มูลค่า 82,683 ล้านบาท
5.วัตถุอันตราย 2,653 รายการ มูลค่า 1,886 ล้านบาท
6.และยาเสพติด 389 รายการ มูลค่า 496 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศต้องผ่าน 5 ด่านเข้ม ดังนี้
มาตรการที่ 1 แยกกลุ่ม คือ การแบ่งกลุ่มผู้นำเข้า ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้นำเข้าคุณภาพสูง (GIP Plus) ที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก อย. 2) ผู้นำเข้าปกติ คือผู้นำเข้าที่ไม่ได้รับ GIP Plus เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบปกติ มีการสุ่มเก็บตัวอย่าง ตรวจสอบเอกสารปกติ และ 3) ผู้นำเข้ากลุ่มเสี่ยง คือ ผู้นำเข้าที่มีประวัติถูกดำเนินคดี เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอย่างเข้มงวด ต้องพิสูจน์ความปลอดภัยของสินค้า โดยอาจจะมีการกักกันสินค้า เก็บตัวอย่างตรวจและอายัดสินค้า
มาตรการที่ 2 กำหนดปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพถือติดตัว โดยเจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยา ประจำท่าอากาศยานนานาชาติ จะสุ่มตรวจสัมภาระ สำหรับผู้ที่เดินทางกลับเข้าราชอาณาจักรไทย ตามข้อกำหนดการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือถือติดตัวเข้ามาได้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท และต้องไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย
มาตรการที่ 3 การตรวจพัสดุไปรษณีย์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ส่งมาจากต่างประเทศ หากมีการระบุเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาจะทำการตรวจสอบ โดยเปิดพัสดุดูว่าตรงตามที่มีการแจ้งไว้หรือไม่ โดยหากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ตรง จะมีการดำเนินตามกฎหมายกับผู้ที่สั่งเข้ามา
มาตรการที่ 4 ผลิตภัณฑ์สุขภาพใช้ถ่ายภาพยนตร์ได้ตามจำเป็น ซึ่งจากนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวก สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามนโยบาย Soft Power ทำให้ในปี 2567 จัดให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพในกรณีพิเศษ สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์เป็นการเฉพาะ โดยจะพิจารณาอนุญาตภายใน 24 ชั่วโมง แต่ให้นำเข้าได้ในปริมาณที่จำเป็นและต้องส่งกลับหรือทำลายภายใน 30 วันหลังถ่ายทำเสร็จ
มาตรการที่ 5 สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพหลังนำเข้า โดยเจ้าหน้าที่ อย. จะสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายหลังวางตลาด ทั้งหน้าร้านและผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งหากพบการกระทำผิดก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หากพบอาหารไม่มีเลข อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรืออาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 6 (10) มีโทษตามมาตรา 51 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท เป็นต้น
หากผู้บริโภคพบการกระทำผิดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างมาตรฐานความปลอดภัย ให้กับผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้บริโภค โดยสั่งการเคร่งครัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความร่วมมือดำเนินมาตรการตรวจสอบ กำหนดข้อปฏิบัติสำหรับการนำเข้าในสินค้า เพื่อปกป้องคุณภาพ ชีวิตประชาชน จากการบริโภคสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ยกระดับการดำเนินคุณภาพชีวิตคนไทย” นายชัย กล่าว.-314.-สำนักข่าวไทย