อนุสาวรีย์ชัยฯ 31 ส.ค. – มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคัดค้านขึ้นค่าโดยสารบีทีเอส ชี้กระทบค่าครองชีพประชาชน ระบุสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีล่าช้าเกือบ 3 ปี แนะเร่งปฏิรูปการบริการขนส่งสาธารณะให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงในราคาที่เป็นธรรม
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ขอคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารบีทีเอสใหม่ที่จะมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2560 โดยเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทบทวนการอนุญาตให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากส่งผลกระทบให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ซึ่งอัตราค่าโดยสารบีทีเอสปัจจุบันหากเทียบระยะทางและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้โดยสารได้รับ ถือว่าค่าโดยสารแพงกว่ารถไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกงและโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนมีรายได้ขั้นต่ำเฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าประเทศไทยมาก
นอกจากนี้ ขอให้ชะลอการขึ้นราคาจนกว่าจะมีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตามคำพิพากษา คดีแดงที่ อ.650/2557 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ที่มีคำสั่งให้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุครบทั้ง 23 สถานี อาทิ การจัดทำลิฟต์ทุกสถานี จากปัจจุบันมีเพียง 5 สถานีเท่านั้น จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้รถเข็นคนพิการให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร และมีราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร บริเวณทางขึ้น-ลง และติดสัญลักษณ์คนพิการทั้งในและนอกตัวรถคันที่จัดไว้สำหรับคนพิการ โดยให้ดำเนินการเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา แต่ปัจจุบันเกือบ 3 ปีแล้วบีทีเอสยังก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 23 สถานีไม่เสร็จตามกำหนด ซึ่งการปรับขึ้นราคาขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกไม่พร้อมถือว่าไม่เป็นธรรม เอาเปรียบประชาชน จึงอยากให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เสร็จก่อน จึงพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่อีกครั้ง ส่วนการจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ ก็เป็นการสร้างรายได้และผลกำไรให้กับบีทีเอสทั้งสิ้น จึงไม่ควรนำประเด็นดังกล่าวมาขึ้นค่าโดยสารและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชน ทั้งนี้ อยากให้มีการถามความคิดเห็นของภาคประชาชนก่อนมีการปรับขึ้นราคา หลังจากนี้จะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปบริการขนส่งสาธารณะให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย พร้อมทบทวนภาพรวมค่าบริการขนส่งสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทในราคาที่เป็นธรรม ควรกำหนดให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายการเดินทางต่อวันไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย เช่น ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ค่าเดินทางไม่ควรเกิน 30 บาทต่อวัน หรือกำหนดค่าใช้จ่ายสูงสุดต่อวันที่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะทุกประเภทได้เช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย
ขณะเดียวกันบีทีเอส มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยรายได้จากการดำเนินงานไตรมาส 1/2560 จำนวน 3,110.3 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,553.5 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 100.2 รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ไตรมาส 1/2560 จำนวน 473.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดผู้โดยสารรวมในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไตรมาส 1/2560 จำนวน 58 ล้านเที่ยวคน ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้โดยสาร 56.8 ล้านเที่ยวคน .-สำนักข่าวไทย