กรุงเทพฯ 6 ส.ค. – คณะกรรมการควบคุมมลพิษเห็นชอบแผนแก้ไขปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนจากการลักลอบทิ้งกากของเสียและสารอันตรายในจังหวัดระยอง พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอ พร้อมทั้งเสนองบประมาณเร่งด่วนสำหรับกำจัดของเสียที่อยู่ภายในอาคารและพื้นที่
คณะกรรมการควบคุมมลพิษจัดประชุมเพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนจากการลักลอบทิ้งกากของเสียและสารอันตราย โดยมีนางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนหน่วยงาน และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมมลพิษ
นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า จากกรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียและสารอันตราย ของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง บริษัท เอกอุทัย จำกัด และ บริษัท ซันเทค เคมิคอล แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัดในอำเภออุทัย และโกดังลักลอบเก็บสารเคมีในพื้นที่อำเภอภาชี รวม 3 ราย ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้กระทำผิดตามคำสั่งศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ราย ซึ่งทั้งหมดยังไม่สามารถบังคับคดีให้ผู้กระทำผิดกำจัดของเสียในความครอบครอง เนื่องจากผู้กระทำผิดจงใจเพิกเฉยการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ด้วยเป็นปัญหาเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐต้องรีบดำเนินการแก้ไขเนื่องจากมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว หากปล่อยไว้มีแนวโน้มสูงที่จะรั่วไหลออกสู่ภายนอก เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง
ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้นำเสนอแผนที่จะดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหลและพื้นที่ปนเปื้อนจากการลักลอบทิ้งกากของเสียและสารอันตราย ใน 6 พื้นที่นี้ ต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ พร้อมทั้งเสนอของบประมาณที่ต้องใช้เป็นการเร่งด่วน จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยเฉพาะงานกำจัดของเสียที่อยู่ภายในอาคารและพื้นที่โดยรอบ การประเมินลักษณะสภาพอุทกธรณีวิทยาในพื้นที่ปนเปื้อน เพื่อเลือกวิธีการป้องกันการแพร่กระจายและการฟื้นฟูที่เหมาะสม ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดจากผู้ประกอบกิจการโรงงานต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังร่วมกันพิจารณาแนวทางการใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อการสั่งห้ามมิให้เจ้าของที่ดินหรือบุคคลใดใช้ประโยชน์หรือดำเนินการใดในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษ ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าของที่ดินหรือผู้กระทำผิดเร่งดำเนินการฟื้นฟูและขจัดมลพิษของตนเองให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว และเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ละเลยหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว
กรมควบคุมมลพิษจะร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในลำดับต่อไป. 512-สำนักข่าวไทย