กรุงเทพฯ 17 ก.ค. – อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยการลดจำนวนปลาหมอคางดำต้องผสมผสานหลายวิธี ย้ำต้องเลือกให้เหมาะสมตามสภาพความรุนแรงของการระบาด เพื่อลดผลกระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ส่วนการวิจัยทำหมันปลากว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา
นายวีรกิจ จรเกตุ หัวหน้าสถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม คณะประมง มหาวิทยาเกษตรศาสตร์กล่าวว่า มาตรการการกำจัดปลาหมอคางดำจำเป็นต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน อีกทั้งต้องเลือกให้เหมาะสมกับความรุนแรงของการระบาดด้วยการประเมินเป็นรายแหล่งน้ำเพื่อลดผลกระทบข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นต่อสัตว์น้ำชนิดอื่นและระบบนิเวศ
พร้อมกันนี้ยกตัวอย่างการใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับปลาหมอคางดำเพื่อนำมาทำทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ ย่อมมีปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่นติดขึ้นมาด้วย ส่วนการปล่อยปลานักล่าอย่างปลากะพง ปลากะพงไม่ได้เลือกกินเฉพาะปลาหมอคางดำ แต่กินสัตว์น้ำชนิดอื่นด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการประเมินสภาพความรุนแรงของการระบาดเป็นรายแหล่งน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในแหล่งน้ำเสื่อมโทรมที่ปลาหมอคางดำกินสัตว์น้ำชนิดอื่นกินจนเหลือน้อยมาก กระทั่งปลาหมอคางดำกลายเป็นชนิดพันธุ์หลักในแหล่งน้ำนั้น สามารถใช้เครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูงจับเพื่อให้สามารถลดจำนวนได้อย่างรวดเร็ว แล้วจึงฟื้นฟูเพื่อคืนความสมดุลของระบบนิเวศ
สำหรับโครงการวิจัยของกรมประมงเพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์เพื่อให้ได้ปลาที่เป็นหมันนั้น คาดว่า เป็นการนำวิธีทำหมันปลาเศรษฐกิจซึ่งมาอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้สำหรับลดการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ การทำหมันปลาที่ทำกันอย่างกว้างขวางเช่น ในปลานิลเพื่อลดการเจริญเพศซึ่งจะทำให้ปลาเติบโตเร็ว งานวิจัยของกรมประมงเพื่อให้ได้ปลาหมอคางดำซึ่งมีชุดโครโมโซมพิเศษที่เป็นหมัน แล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติเพื่อให้ได้ลูกที่เป็นหมันจึงเป็นงานวิจัยที่เป็นไปได้ทางทฤษฎี แต่จะทำให้ประชากรปลาหมอคางดำลดลงในระดับไม่ก่อผลกระทบภายใน 3 ปีได้หรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่เคยมีการใช้เพื่อกำจัดสัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่นมาก่อน ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กับวิธีอื่นๆ ในการลดจำนวนด้วย
นายวีรกิจกล่าวว่า ปลาหมอคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทยที่รุนแรงที่สุด เมื่อเทียบกับสัตว์น้ำต่างถิ่นอื่นที่เคยหลุดเข้าสู่ระบบนิเวศ โดย Aliean Spicies เมื่อหลุดเข้าสู่ระบบนิเวศแล้ว เป็นไปได้ยากมากที่จะกำจัดให้หมดไปเช่น ปลาซักเกอร์ที่ยังคงพบในประเทศไทย
นายวีรกิจย้ำว่า ในการกำหนดวิธีกำจัดปลาหมอคางดำไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันหมดได้ ต้องศึกษาวิจัยเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ระบบนิเวศเสียสมดุลจนกลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อน นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงบริบททางสังคม โดยหากมีการปล่อยปลานักล่าเช่น ปลากะพงลงไป ชุมชนอาจตกลงกันถึงระยะเวลาที่จะพักจับสัตว์น้ำเพื่อให้ปลากะพงไปกินลูกปลาหมอคางดำ แล้วกำหนดห้วงเวลาที่จะเริ่มจับสัตว์น้ำได้ใหม่ รวมทั้งมีมาตรการฟื้นฟูแหล่งน้ำซึ่งเป็นการเยียวยาผลกระทบอีกทางหนึ่งด้วย.512-สำนักข่าวไทย