กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – ส.อ.ท. ชี้ตรึงค่าไฟฟ้า 4.18 บาท/หน่วย คือทางรอดของประชาชน และการแข่งขันของระเทศ พร้อมเปิด 3 สาเหตุ ค่าไฟฟ้า งวด3/67 ขึ้นแรง 11-44 % แนะรัฐก้าวข้ามกับดัก PDP2024 ด้วย พลังงานสะอาด เปิดเสรีระบบผลิต จัดหา จำหน่ายทั้งไฟฟ้าและ NG
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงความท้าทายของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของทางออกค่าไฟฟ้างวด 3/2567 (กันยายน-ธันวาคม) และกับดัก PDP2024 โดยกล่าวถึงสาเหตุของค่าไฟฟ้างวด 3/2567 ที่ปรับขึ้นอย่างรุนแรง 11-44% (4.65 – 6.01 บาท) เป็นผลมาจากต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 3.97 บาท/หน่วย เป็น 4.12 บาท/หน่วย การที่จะชำระคืน กฟผ. เพิ่มขึ้น (ค่า AF) มีรายการเพิ่มเพื่อชำระคืนส่วนต่างราคาก๊าซตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 (ค่า AF Gas) ที่เกิดขึ้นในงวด 3/2566 คืนให้ ปตท. และ กฟผ. ทั้งหมดภายในงวด 3/2567 งวดเดียวจำนวน 15,084 ล้านบาท (25.02 สตางค์ต่อหน่วย)
เมื่อเปรียบเทียบค่าไฟฟ้างวด 2/2567 กับ งวด 3/2567 (กรณี กกพ. ทางเลือก 3 ) และ กรณีตรึงค่าไฟฟ้า 4.18 บาท/หน่วย จะเห็นว่าคือ ทางรอดของ ประชาชน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยที่ 1.ยังคงสามารถชำระคืน กฟผ. ได้บางส่วน รัฐบาลเองก็สามารถช่วยสภาพคล่อง กฟผ. ได้โดยให้ กฟผ. ชะลอหรือลดเงินนำส่งรัฐ 2. ชะลอการชำระคืนค่า AF Gas (15,084 ล้านบาท) ออกไปก่อน ซึ่งที่มาของค่า AF Gas เมื่อรัฐบาลเริ่มเข้ามาบริหารงาน ได้สั่งลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย (ลดจาก 4.69 บาทต่อหน่วย ในงวด 2/2566) ตามมติคณะรัฐมนตรี 18 ก.ย. 2566 โดยมิได้ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด เพียงแต่สั่งให้ ปตท. และ กฟผ. คุมค่าก๊าซไว้ และให้นำส่วนต่างค่าก๊าซธรรมชาติ (AF-Gas) ไปทยอยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟคืนให้ ปตท. และ กฟผ. ส่วนนี้คิดเป็นเงิน 15,084 ล้านบาท (25.02 สตางค์ต่อหน่วย) ที่จะนำมาเรียกเก็บจากประชาชนคืนในงวด 3/2567
พร้อมแนะ 3 มาตรการ ก้าวข้ามกับดัก PDP2024 เพื่อทางรอดของประเทศ ได้แก่ 1.ต้องพึ่งพลังงานสะอาด ที่ต้นทุนไม่ผันผวนมากกว่า ที่จะไปเสี่ยงกับพลังงานฟอสซิลที่ควบคุมราคาไม่ได้ 2.บริหาร Demand & Supply อย่างเหมาะสม เช่น ไม่ลงทุนเกินตัวในโรงไฟฟ้าและ Infrastructure ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ที่จะเป็นภาระของประเทศ มี KPI ที่เหมาะสม ทบทวนสัญญาโรงไฟฟ้า เช่น ค่า AP และอื่น ๆ และ 3.ผลักดันนโยบาย เปิดเสรีทั้งระบบผลิต/จัดหา/จำหน่ายไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ การกำกับแบบมืออาชีพโปร่งใส และเร่ง TPA (Third Party Access) ทั้งระบบสายส่งไฟฟ้า และระบบ NG และ LNG นำเข้า. -517-สำนักข่าวไทย