fbpx

กรมประมงเร่งวิจัยพันธุกรรมหมันในปลาหมอคางดำ

กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – รมว. ธรรมนัส เผยกรมประมงกำลังเร่งแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำที่ต้นตอ ด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านพันธุกรรมให้ประชากรปลาหมอคางดำเป็นหมัน เป็นการแก้ปัญหาจากต้นตอ อธิบดีกรมประมงคาดใช้เวลาวิจัย 18 เดือนและไม่กระทบต่อพันธุกรรมของสัตว์น้ำอื่น พร้อมแจงกฎหมายประมงในอดีต ควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำโดยมีเจตนารมณ์ป้องกันโรคระบาด แต่กฎหมายปัจจุบัน คำนึงถึงการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพด้วย


ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงว่ากำลังเร่งวิจัยและพัฒนาด้านพันธุกรรมเพื่อหยุดการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ โดยจะทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน ในระหว่างที่รอผลการวิจัยให้เดินหน้าทุกมาตรการในการกำจัดดังนี้

1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด


2) การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกงเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ   

3) นำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์เช่น ทำอาหารคน อาหารสัตว์

4) สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่างๆ


5) ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน

ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เน้นย้ำให้เร่งรัดการวิจัยด้านพันธุศาสตร์เพื่อลดการเกิดใหม่ของลูกปลาหมอคางดำซึ่งเป็นแก้ปัญหาการระบาดที่ต้นตอ

ส่วนที่มีหลายภาคส่วนเรียกร้องให้ผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์ในประเทศไทย ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศนั้น ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากพูดไปโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน จะเกิดความเสียหาย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า กรมประมงได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) ลูกปลาหมอคางดำเกิดมาจะมีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) มีลักษณะเป็นหมันซึ่งไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้

เบื้องต้นจะศึกษาในบ่อทดลองโดยเลียนแบบธรรมชาติภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรีซึ่งคาดว่า จะใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือน หากงานวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จจะสามารถควบคุมการเพิ่มจำนวนประชากรปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพและคาดว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำได้อย่างสัมฤทธิผลภายใน 3 ปี

ในการดำเนินการวิจัยด้านพันธุกรรมของปลาหมอคางดำ กรมประมงยืนยันว่า จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสัตว์น้ำอื่นๆ ในธรรมชาติซึ่งอย่างแน่นอน

ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน 13 จังหวัดบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยลักษณะการแพร่ระบาด พบทั้งคลองที่เชื่อมถึงกันและพบเฉพาะบางแหล่งน้ำที่ห่างไกลออกไป นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เฝ้าระวัง 3 จังหวัดได้แก่ ตราด ชลบุรี และฉะเชิงเทรา กรมประมงจึงสั่งการให้ประมงจังหวัดจัดทำร่างแผนปฏิบัติการและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจของภาคการประมงและในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อยเพราะปลาชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือ ปรับตัวให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดีซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแย่งชิงแหล่งอยู่อาศัยกับปลาท้องถิ่น มีพฤติกรรมการกินอาหารได้ในวงกว้าง รวมถึงมีอัตราการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็วมาก เมื่อปลาหมอคางดำหลุดรอดลงสู่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำหรือแหล่งน้ำใดก็ตาม ส่งผลทำให้ปลาชนิดอื่นๆ ลดจำนวนลงและกลายเป็นชนิดพันธุ์หลักในแหล่งน้ำนั้นแทน

ปลาหมอสีคางดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron Ruppell, 1852 ชื่อสามัญ Blackchin tilapia ชื่อไทย ปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (Family Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาพบตั้งแต่ประเทศมอริเตอเนียไปจนถึงประเทศคาเมอรูน มีรายงานการนำเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงอีกหลายประเทศในทวีปเอเซียและทวีปยุโรป

ข้อสันนิษฐานถึงที่มาของปลาหมอคางดำซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ในการเข้ามายังประเทศไทยและเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) ที่รุกรานระบบระบบนิเวศแหล่งน้ำมี 2 ทางคือ

1. การลักลอบนำเข้า

2. การที่มีภาคเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อการวิจัยปรับปรุงพันธุ์

ทั้งนี้ ภาคเอกชนรายหนึ่งยื่นขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวนหนึ่งในปี 2549 ส่วนเกิดการหลุดรอดออกมาหรือไม่ ไม่แน่ใจเนื่องจากผ่านมา 17 ปีแล้วจึงไม่กล้าปรักปรำ

อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยการประมงในอดีตกับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ต่างกัน โดยเมื่อปี 2553 ใช้ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 ในมาตรา 54 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำเข้าในราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตซึ่งเจตนารมณ์คือ ป้องกันโรคระบาดและสารตกค้างในสัตว์น้ำนำเข้า ยังไม่ได้ของกฎหมายคือเรื่องโรคระบาด และสารตกค้างในสัตว์น้ำที่นำเข้า ยังไม่ได้มีเจตนารมณ์ป้องกันการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น แต่ปัจจุบันใช้ พ.ร.ก .การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งให้ความสำคัญต่อการป้องกันสัตว์น้ำต่างถิ่นโดยกำหนดไว้ในมาตรา 65 เพื่อคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับปลาหมอคางดำ มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 ห้ามนำเข้า โดยการขอนำเข้า จะมีคณะกรรมการความหลากหลายชีวภาพพิจารณาก่อน หากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่ไม่มีพิษและบริโภคได้จึงส่งเสริมให้เกษตรกรนำปลาหมอคางดำที่กำจัดจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ปลาป่น หมักทำน้ำปลา หมักทำปุ๋ยชีวภาพ และใช้เป็นปลาเหยื่อหรืออาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ปัจจุบันมีการแปรรูปไปแล้วกว่า 500 ตันทั่วประเทศ โดยกรมประมงและหน่วยงานในพื้นที่จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และหาช่องทางการขายและกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตเช่น ร้านสะดวกซื้อและ Modern Trade เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวประมงทั่วประเทศซึ่งเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

รายงานจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ในปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ จากการที่มีผู้ร้องเรียนว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรี โดยภาคเอกชนยื่นขออนุญาตนำเข้าจากกรมประมงเมื่อปี 2549 เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ประเทศต้นทางใช้เวลารวบรวมพันธุ์ปลา 3 ปีจึงนำเข้ามาในไทยเมื่อปลายปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว จากคำชี้แจงของกรมประมงซึ่งเป็นผู้ถูกร้องระบุว่า ภาคเอกชนแจ้งว่า ระยะเวลาขนส่งที่นานถึง 32 ชั่วโมงจึงทำให้ปลาบางส่วนตาย เหลือเพียง 600 ตัวซึ่งมีอาการไม่ดี จากนั้นนำปลาที่เหลือไปปล่อยในบ่อระบบปิดที่เตรียมไว้ ต่อมาปรากฏว่า ในสัปดาห์ที่ 1 เหลือปลาที่รอดเพียง 200 ตัว แล้วทยอยตายไปเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ ผู้วิจัยเห็นว่า ปลาเริ่มทยอยตายจึงได้ส่งตัวอย่างปลาไปให้กรมประมงด้วยวิธีการดอง 50 ตัว จากนั้นผู้วิจัยจึงตัดสินใจทำลายปลาที่เหลือโดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลา โรยด้วยปูนขาวเพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า การปรับปรุงสายพันธุ์น่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แล้วแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้ทำรายงานอย่างเป็นทางการ

ในห้วงเวลานั้นกรมประมงชี้แจงต่อ กสม. ว่า สาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการลักลอบนำเข้าหรือการทำผิดเงื่อนไขอนุญาตนำเข้า โดยการระบาดของปลาชนิดนี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า แหล่งที่มาหรือสาเหตุการระบาดคืออะไร

ขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำยังคงพยายามหาสาเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยจะเชิญภาคเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้ามาชี้แจง รวมถึงนำตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ภาคเอกชนดองแล้วส่งมอบให้กรมประมง มาเปรียบเทียบโครงสร้างทางพันธุกรรมกับประชากรปลาหมอสีที่ระบาดในหลายจังหวัดว่า มีแหล่งที่มาร่วมกันหรือไม่

อธิบดีกรมประมงคนปัจจุบันระบุว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฏว่า มีการเก็บรักษาปลาหมอคางดำดองไว้ในที่ใด แต่ยืนยันว่า จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน หากมีวิธีการตรวจสอบใดๆ ที่เป็นไปได้ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง

ลักษณะทางชีววิทยาของปลาหมอคางดำ ขนาดที่พบทั่วไปยาวประมาณ 17.5 เซนติเมตร มีขนาดความยาวสูงสุด 28 เซนติเมตร ขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์ เป็นปลาที่ทนต่อความเค็ม สามารถอาศัยในพื้นที่น้ำจืดได้ทั้งในทะเลสาบ แม่น้ำ และลำน้ำสาขา ชอบหากินบริเวณพื้นท้องน้ำในธรรมชาติ กินพืช แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ กุ้ง ปู หอย ปลา และไข่ปลาเป็นอาหาร สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด พ่อแม่ปลามีการผสมพันธุ์บริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง เป็นปลาประเภทที่พ่อแม่ปลามีการดูแลลูก (parental care) จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่ออัตรารอดตายที่สูง ระยะเวลาฟักไข่เฉลี่ย 14 วัน สามารถขยายจำนวนประชากรได้เป็นสองเท่าภายในระยะเวลา 1.4 – 4.4 ปี. – 512 สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นายกตรวจน้ำท่วมเชียงราย

นายกฯ บินเชียงราย ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

“นายกฯ แพทองธาร” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เตรียมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมการลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือของกองทัพ

ชิงทองระนอง68บาท

รวบแล้วโจรชิงทอง 68 บาท กลางห้างดังระนอง

รวบแล้ว 2 คนร้ายชายหญิง จี้ชิงทอง 68 บาท ในห้างดังกลางเมืองระนอง ฝ่ายชายรับสารภาพ ชีวิตตกต่ำ ไม่มีรายได้ จึงชวนหลานสาววัย 16 ปี มาร่วมก่อเหตุชิงทอง

น้องชายรัวยิงพี่สาวตายกลางงานศพแม่ อ้างฉุนไม่ให้ร่วมจัดงานศพ

น้องชายชักปืนรัวยิงพี่สาวเสียชีวิตกลางงานศพแม่ ภายหลังน้องชายเข้ามอบตัวกับตำรวจ อ้างเหตุผลฆ่าเพราะโมโห รู้สึกว่าพี่สาวใจดำมากที่กีดกันไม่ให้ตนช่วยจัดงานศพแม่

บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ

เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมสืบนครบาล บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ มีเบาะแสต้นตอการทะลักของยาเขียวเหลือง ตะลึงพบซากจิ้งจกตายในหม้อต้ม ขณะที่เจ้าของโรงงานยันประกอบอาชีพโดยสุจริต

ข่าวแนะนำ

ชายแดนแม่สายยังเละจมโคลน จับตาพายุลูกใหม่

แม้จะผ่านน้ำท่วมใหญ่ในรอบร้อยปีมาหลายวันแล้ว แต่ตอนนี้ชายแดนแม่สายยังเต็มไปด้วยความเสียหายและดินโคลนจำนวนมาก ชาวบ้านหลายคนยังไม่สมารถกลับเข้าบ้านได้

นายกฯ ตรวจความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

นายกฯ ตรวจความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การซ้อมเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 7 ณ โรงเรือพระราชพิธี ท่าวาสุกรี และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ขณะที่ “เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ” ให้กำลังใจทำหน้าที่ได้เต็มที่-ประสบความสำเร็จ

พายุโซนร้อน “ซูลิก” ทำฝนตกหนัก 76 จังหวัด 19-23 ก.ย.

พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ซูลิก” แล้ว คาดขึ้นฝั่งเวียดนามคืนนี้ หัวพายุส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนแล้ว ช่วงระหว่างวันที่ 19-23 ก.ย.67 มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 76 จังหวัด