28 มิ.ย. – ตำรวจไซเบอร์ทลายเครือข่ายมิจฉาชีพหลอกผู้สูงอายุวัยเกษียณลงทุน เสียหายกว่า 200 ล้านบาท รวบผู้ต้องหาได้ 30 คน จับตัวการสำคัญเป็นทั้งแอดมิน และคนจัดหางานและบัญชีม้า มาร่วมขบวนการ ซัดทอดนายทุนจีนเป็นผู้สั่งการอยู่เบื้องหลัง
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1, พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 แถลงข่าวการปฏิบัติการ ดานฮั่นเตอร์ (DAY HUNTER) บุคคล 6 เป้าหมายในกรุงเทพฯ ทลายเครือข่ายอ้างเป็นคนดังหลอกผู้สูงอายุวัยเกษียณลงทุน หลังมีผู้สูงอายุจำนวนกว่า 40 คน ร้องทุกข์กล่าวโทษผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ว่าได้ถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนผ่าน แอพพลิเคชั่น ชื่อว่า เพนฟอร์ด (PENFOLD) และแอพพลิเคชั่น ไอบีทีเอ็ม (IBTM) รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท
โดยพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุมักสร้างเฟซบุ๊กปลอมแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงด้านการลงทุน ใช้วิธีแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มเฟซบุ๊กจริงที่เกี่ยวกับการลงทุน จากนั้นได้ทำค้นหารายชื่อกลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มข้าราชการเกษียณอายุ ก่อนติดต่อแนะนำหรือชักชวนให้กับกลุ่มเป้าหมายร่วมลงทุน โดยให้กลุ่มเป้าหมายติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพได้สร้างขึ้นมาหลอกให้โอนเงินเพื่อเข้าร่วมลงทุนเป็นระยะเป็นจำนวนหลายครั้งแต่ถ้าหากเหยื่อต้องการถอนเงินกลุ่มผู้ก่อเหตุก็จะอ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายโอนเงินเพิ่ม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้จริง
พล.ต.ท.วรวัฒน์ เปิดเผยว่าหลังจากได้ทราบเรื่องร้องเรียนก็ได้สั่งการให้ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ทำการสืบสวนโดยทันที กระทั่งตำรวจสามารถพบเป้าหมายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 จุด ก่อนที่จะวางแผนเข้าปฏิบัติการตรวจค้นจนสามารถจับผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 30 คน เป็นกลุ่มแอดมิน ผู้จัดหาบัญชีม้า รวมทั้งบัญชีม้าโดยผู้ต้องหาสำคัญคือนางสาวปานชีวัน อายุ 33 ปี และนางสาวชานิภา อายุ 39 ปี ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดกับชาวจีนระดับหัวหน้าองค์กร โดยทั้ง 2 คน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีม้าและจัดหาคนเข้ามาทำงานในองค์กรโดยวิธีประกาศรับสมัครผ่านเฟซบุ๊ก จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 14 เครื่อง โทรศัพท์ 6 เครื่อง เอกสารรับสมัครงาน สมุดบัญชีธนาคาร เอกสารการเงิน เอกสารบทสนทนาที่เตรียมไว้สำหรับหลอกกลุ่มเป้าหมาย และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอีกหลายรายการ
พล.ต.ต.สถิตย์ เปิดเผยว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหา เบื้องต้นซัดทอดไปถึงนายทุนชาวจีนที่เป็นระดับผู้บริหารและผู้สั่งการจำนวน 2 คน ทราบว่าสั่งการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้ตำรวจเร่งสืบสวนติดตามตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย
ด้าน พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เปิดเผยว่า พฤติกรรมการหลอกลวงประเภทนี้เรียกว่าไฮบริดสแกรม หลอกลวงกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมลงทุนโดยการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านสื่อออนไลน์ และสร้างโปรแกรมเสหมือนจริงมาเป็นเครื่องมือหลอกโอนเงิน ปัจจุบันพบการแจ้งความถูกหลอกในลักษณะนี้มากถึง 60,000 คน มีมูลค่าความเสียหาย 22,000 ล้านบาท จึงเป็นสิ่งที่ตำรวจไซเบอร์ต้องเร่งขยายผลทลายเครือข่ายดังกล่าวให้หมดไป สำหรับตัวผู้ต้องหาทั้งหมดตำรวจได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนในคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, เป็นอั้งยี่, และร่วมกันทุจริตหรือหลอกลวงโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันสมคบการฟอกเงิน
ผู้บัญชาการ สอท.ระบุว่าสำหรับคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างตนเองเป็นบุคคลดังหลอกคนจีนวัยเกษียณอายุร่วมลงทุนซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทยนั้น ผู้เสียหายทั้งหมดเป็นคนจีนวัยเกษียณอายุ กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ 9 มณฑลของประเทศจีน และถึงแม้คดีนี้ผู้เสียหายจะเป็นคนจีน แต่เมื่อกระทำผิดในประเทศไทยก็ต้องดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้ติดต่อไปยังทางการจีนเพื่อให้ดำเนินการติดตามผู้เสียหาย เพื่อยืนยันความเสียหายแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางการจีนสามารถติดตามผู้เสียหายได้แล้ว 2 คน ในมณฑลหูเว่ย ตะเข็บชายแดน จีนทิเบต ซึ่งทั้งสองคนยืนยันความเสียหายตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้ ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3 ล้านหยวน หรือประมาณ 15 ล้านบาท. -414-สำนักข่าวไทย