กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – นักวิชาการและผู้ประกอบการจากนานาประเทศ ร่วมประชุมวิชาการน้ำมันรำข้าว หวังเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการผลิตน้ำมันรำข้าว และส่งเสริมให้ผู้คนบริโภคมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดข้าวไทย
วันนี้ บรรดานักวิชาการและผู้ประกอบการกว่า 200 คนจาก 13 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการน้ำมันรำข้าวนานาชาติ ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทน้ำมันรำข้าวทั้งในไทยและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2560 นับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากน้ำมันรำข้าว มุ่งไปสู่การประสานความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาการผลิตน้ำมันรำข้าวของแต่ละประเทศ โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม
ผศ.ดร.เหรียญทอง สิงห์จานุสงค์ ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไขมันและน้ำมัน แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เผยว่า น้ำมันรำข้าวที่ผลิตในประเทศไทย มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และมีศักยภาพการผลิตสูง ไทยจึงสามารถผลิตน้ำมันรำข้าวได้มากถึง 140,000 ตันต่อปี สามารถจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้ ให้ประเทศถึงปีละกว่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแนะให้คนไทยหันมาผลิตน้ำมันรำข้าวมากขึ้น เพื่อนำข้าวไทยที่กำลังมีปริมาณมหาศาล มาใช้ประโยชน์มากขึ้น และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังสนับสนุนให้คนไทยบริโภคน้ำมันรำข้าวมากขึ้น เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งลดคอเลสเตอรอลในเลือด บำรุงผิวพรรณ และรักษาสมดุลระบบประสาท
ด้านนายประเสริฐ เศรษฐวิพัฒนชัย นายทะเบียนสมาคมน้ำมันรำข้าวนานาชาติ กล่าวถึงภาพรวมของน้ำมันรำข้าวในระดับนานาชาติว่า ไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตน้ำมันรำข้าวของโลก เพราะสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ส่วนอินเดียก็มีความได้เปรียบคือผลิตได้มากและมีต้นทุนการผลิตถูก แต่เนื่องจากมีจำนวนประชากรในประเทศสูง ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอ และปัจจุบัน ญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่มีเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันรำข้าวก้าวหน้าที่สุดในโลก สามารถนำไปประยุกต์เป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ เป็นตัวอย่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าวแก่ชาติอื่นๆ รวมถึงไทย
ขณะที่ นายฮิโนะมิจิ มูราอิ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าวจากญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า แม้ญี่ปุ่นจะมีนวัตกรรมการผลิตน้ำมันรำข้าวที่ล้ำหน้า แต่ก็มีอุปสรรคสำคัญ คือผลผลิตข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงขาดแคลนวัตถุดิบสกัดน้ำมันรำข้าว ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันภาครัฐและผู้ประกอบการญี่ปุ่นก็กำลังร่วมมือส่งเสริมการผลิตและการบริโภคน้ำมันรำข้าวในประเทศให้แพร่หลายยิ่งขึ้น.- สำนักข่าวไทย