ชลบุรี 23 มิ.ย. – นายกฯ เร่งรัดท่าเรือน้ำลึก แหลมฉบัง เฟส 3 แล้วเสร็จ มิ.ย.69 รองรับตู้สินค้าได้ 18 ล้านทีอียูต่อปี มุ่งสู่ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ร่วมลงพื้นที่ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พบว่ายังมีความล่าช้า จึงขอให้เร่งก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นไปตามกำหนด ในเดือนมิถุนายน 2569
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนงานที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล มีกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างานรวม 21,320 ล้านบาท ประกอบด้วยงานถมทะเลทั้งหมดประมาณ 2,846 ไร่ หรือ 4.5 ล้านตารางเมตร งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือให้มีระดับความลึก 18.5 เมตร และงานเขื่อนกันคลื่น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเพียง 13.26% นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ กทท. เร่งรัดการก่อสร้างให้ทันตามแผน กวดขัน ติดตามการบริหารสัญญาและควบคุมการทำงานของผู้รับจ้างตามข้อสั่งการ สามารถเร่งรัดได้เนื้องานเพิ่มขึ้นกว่า 17%
ผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ดำเนินงานได้ 31.12% จากแผนปฏิบัติงาน 35.11% แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินงานอย่างเต็มที่ แต่ยังคงล่าช้ากว่าแผน 3.99% ผู้ควบคุมงานได้จัดทำแผนเร่งรัดการปฏิบัติงาน โดยเพิ่มเครื่องจักรทางบก ทางน้ำ และแรงงาน ให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้สามารถขุดลอกได้มากกว่า 2,000,000 ลบ.ม. ต่อเดือน ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ได้กำกับดูแลและควบคุมเร่งรัดการทำงานให้ผู้รับจ้างมีผลงานโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3% ต่อเดือน
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า กทท. ต้องส่งมอบเฉพาะพื้นที่งานถมทะเลท่าเทียบเรือ F1 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการถมไปกว่า 97% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567 หลังจากนั้นจะมีเวลาอีก 1 ปีเศษ เพื่อปรับปรุงคุณภาพพื้นที่ เตรียมส่งมอบให้กับบริษัท จีพีซี ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2568 งานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้ โดยบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ที่วงเงิน 7,298 ล้านบาท เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณ 160 ล้านบาท
กทท. ลงนามในสัญญาได้ภายในต้นเดือนกรกฎาคม 2567 สำหรับงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ มูลค่า 799 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหา ประกอบ และติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบ ประกอบ และติดตั้งระบบเทคโนโลยีสำหรับบริหารท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2,257 ล้านบาท ทั้งสองส่วนอยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพรองรับปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านทีอียูต่อปี ประกอบด้วย ท่าเรือ F1 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ F2 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ E จำนวน 3 ล้านทีอียูต่อปี รวมกับขีดความสามารถเดิมของท่าเรือแหลมฉบัง 11 ล้านทีอียูต่อปี รองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี ทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟและท่าเรือชายฝั่ง ช่วยทำให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ช่วยลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค.-515-สำนักข่าวไทย