รัฐสภา 20 มิ.ย.-“วิโรจน์” ชำแหละงบฯ กลาโหม ไม่ตอบโจทย์ภัยความมั่นคง – จับตา ทอ.จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ 1.95 หมื่นล้าน ยืนยันถ้ามีประโยชน์ การชดเชยคุ้มค่า ก้าวไกลพร้อมหนุน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณกระทรวงกลาโหม ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระแรก ในหัวข้อ “งบกลาโหม แบบหวังว่า แล้วทุกอย่างจะดีเอง สาธุ” ว่า กระทรวงกลาโหม มีรายจ่ายลงทุนในอัตราที่ต่ำอย่างน่าเป็นห่วง ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 พบอัตรารายจ่ายการลงทุน อยู่ที่ 17.67% โดยกองทัพบกต่ำที่สุด 4.89% และคาดว่า จะมีการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่ย่ำแย่ไม่ทัน ไม่ส่งเสริมความมั่นคงของประเทศต่อภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป และนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่งจะระดมเปิดใบสั่งซื้อช่วงท้ายปีงบประมาณ โดยมีกระแสข่าวว่า ที่ล่าช้า เพราะต้องใช้เวลาในการเรียกรับเงินทอนจากบริษัทโบรคเกอร์ แต่ไม่ยอมสั่งซื้อยานเกราะจากผู้ผลิตในประเทศที่มีประสิทธิภาพ เพียงแต่ไม่มีสำรองเงินทอนไว้ปรนเปรอนายพล
นายวิโรจน์ ยังย้ำว่า งบประมาณบุคลากรของกองทัพ ลดลงเพราะการทยอยเกษียณของกำลังพลในช่วงยุคสงครามเย็น ก่อน 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ที่มาครบกำหนดเกษียณในช่วงเวลานี้ทำให้กำลังพล เกษียณตามธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากความพยายามของรัฐมนตรี และแทนที่รัฐมนตรีฯ จะใช้โอกาสดังกล่าว ให้กองทัพอยู่ภายใต้พลเรือน เร่งควบรวมหน่วยงานต่าง ๆ หรือปิดอัตราบรรจุ เพื่อไม่ให้มีการบรรจุใหม่ กลับไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างใด ๆ
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ความมั่นคงในแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่ฝ่ายความมั่นคงทราบมีการใช้โดรนพลีชีพ ระเบิดนำวิถี รวมถึงยังมีแนวโน้มการกระทำผิดดฎหมาย ทั้งยาเสพติด ค้ามนุษย์ และของเถื่อนก็มีความถี่มากขึ้น รวมถึงยังมีรายงานการปะทะต่าง ๆ มีการใช้โดรนมาปฏิบัติการว่า กองทัพบก ยังให้ความสำคัญกับโดรนต่ำมาก แม้จะมีการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2568 ก็แค่ 10 ตัว ส่วนระบบ Anti-โดรน ของฝ่ายตรงข้าม ก็มีงบประมาณสนับสนุนเล็กน้อยแค่ 540 ล้าน สะท้อนการประเมินสถานการณ์ต่ำ และล้าหลัง ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ประเมินมา และแม้รัฐมนตรีฯ จะออกมาท้าเพิ่มงบจัดซื้อ ก็จะเจอปัญหาอื่น เพราะกรมยุทธการทหารบก ก็ไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการใช้โดรนที่ครอบคลุม ทั้งเชิงยุทธการ การพลีชีพ และการติดอาวุธ มีเพียงการลาดตระเวนเท่านั้น และไม่มีการเพิ่มทักษะให้กับกำลังพลใด ๆ ด้วย ซึ่งยังไม่นับรวมปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่มีปัญหาคล้ายกัน แต่กลับไม่มีการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อปราบปรามยาเสพติด และการค้าของเถื่อน
ส่วนงบประมาณสำหรับการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของกองทัพนั้น นายวิโรจน์ บอกว่า แม้จะเพิ่มจากปีที่แล้ว 92 ล้านบาท แต่งบประมาณสำหรับจัดหาอุปกรณ์ และชิ้นส่วน กลับลดลงถึง 580 ล้านบาท จึงเชื่อว่า ยานเกราะที่จอดรอซ่อม ก็จะยังไม่สามารถซ่อมบำรุงได้ โดยเฉพาะยานเกราะล้อยาง ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจชายแดนไทย-เมียนมา สวนทางกับงบค่ารถประจำตำแหน่งของนายพล ที่ได้รับงบประมาณ 550 ล้านบาท
นายวิโรจน์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายในการฝึกศึกษาทางการทหาร ที่ปี 2568 นี้ จะได้งบประมาณเพิ่ม 582 ล้านบาทว่า เป็นเพราะสาเหตุใด ทั้งที่ยอดการเกณฑ์ทหารลดลง และงบบุคลากรก็ลดลง รวมถึงงบประมาณด้านค่าใช้จ่ายสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุง และผลิตเพื่อแจกจ่ายของกองทัพบก ที่ปี 2568 ได้รับเพิ่ม 1,286 ล้านบาท ซึ่งงบดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตทุกปีงบประมาณ ที่มีอัตราการเบิกจ่ายต่ำ และมักถูกโยกไปเบิกจ่ายซื้ออาวุธประเภทอื่น โดยอ้างระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการงบประมาณ 2563 เป็นเครื่องมือ ซึ่งหากการใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายได้ เพราะเป็นวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงขอให้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณางบประมาณดังกล่าวนี้อย่างเข้มงวดด้วย เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้รับทราบภายหลัง หลังเหล่าทัพเปลี่ยนแปลงงบประมาณแล้ว ภายใน 45 วัน และหวังว่า นายสุทิน จะกล้าแก้ระเบียบฉบับนี้ เพื่อไม่ให้รัฐมนตรี เป็นเพียงหัวหลักหัวตอ
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงงบประมาณผูกพันการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 ที่มีวงเงินสูงถึง 19,500 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในงบกองทัพ เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยเรียกร้องให้การจัดซื้อ จะต้องคำนึงถึงนโยบายการชดเชยที่ทำให้ประชาชน ได้ประโยชน์ร่วมด้วย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่นำเงินไปซื้ออย่างดื้อ ๆ และจะต้องคำนึงการชดเชยทางอ้อม เช่น การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในนวัตกรรม อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เกษตรกรรมสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมไซเบอร์ เพื่อจ้างแรงงานทักษะสูง และสนับสนุนทุนการศึกษาแก่พลเรือน ซึ่งไทยอาจได้รับมูลค่าการชดเชย สูงเท่ามูลค่าการจัดซื้อในครั้งนี้ได้ พร้อมยืนยันว่า หากการจัดซื้อในครั้งนี้ มีความเหมาะสม ทั้งราคา การชดเชย พรรคก้าวไกล พร้อมสนับสนุน และปกป้องงบประมาณก้อนนี้ของกองทัพอากาศ
นายวิโรจน์ กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่คำนึงบริบทความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทำให้เชื่อได้ว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมในปี 2568 จะสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติ และประชาชนได้ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพื่อให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือน ปัจจัยคัญไม่ใช่แค่นายรัฐมนตรีเท่านั้น แต่กลไกสำคัญไม่แพ้กันคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ยังคาดหวังอะไรไม่ได้มากกว่านี้ และงบฯ ปี 2568 ก็ไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ รัฐมนตรีฯ เป็นเพียงหุ่นเชิด เป็นโฆษกของกองทัพ ดำเนินนโยบายต่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และยังสามารถทำได้ดีกว่าพลเอกประยุทธ์ด้วยซ้ำ ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงไม่อาจรับหลักการร่างงบประมาณฯ ฉบับนี้ได้.-317.-สำนักข่าวไทย