7 มิ.ย.- ประธาน ป.ป.ช. ยันเป็นอำนาจ ป.ป.ช.พิจารณาคดี “บิ๊กโจ๊ก” เชื่อมโยงคดีเตาปูน ไม่คืนสำนวนให้ตำรวจ ลั่น ใครมีอำนาจหน้าที่อะไรก็ทำไป
พลตำรวจเอกวัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ ตำรวจนครบาลระบุว่า ป.ป.ช.เตะถ่วงคดี “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ในคดีฟอกเงินจากเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ว่า เรื่องนี้คงต้องลำดับเหตุการณ์ให้ฟัง ว่า เริ่มต้น หน่วยงานทางเทคโนโลยีของตำรวจทำคดีที่มีการกล่าวหานายตำรวจไปเรียกรับเงิน และฟอกเงิน จึงเสนอเรื่องมาที่ ป.ป.ช. โดยตอนแรกเรื่องที่ส่งมาเป็นเรื่องนายตำรวจระดับพันตำรวจเอก จึงเห็นว่าไม่ใช่คดีเข้าข่ายร้ายแรง จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต รับไปดำเนินการ แต่ต่อมา มีการร้องเรียนและมีความเชื่อมโยง ว่า มีผู้ดำรงตำแหน่งระดับ รองผบ.ตร. จึงรับเรื่องไว้ทำเอง ซึ่งถือเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. ที่ดำเนินการไปตามกฎหมาย ป.ป.ช. พิจารณาเรื่องนี้และเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน รวมทั้งคดีเตาปูนด้วย จึงรับเรื่องทั้งหมดกลับมาทำ และถือว่าอำนาจหน้าที่ของตำรวจสิ้นสุดลง จึงมีมติให้ตำรวจส่งเรื่องคืน โดยเตือนไป 2 ครั้งแล้ว
“เป็นอำนาจของป.ป.ช. ในการดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่อง ดังนั้นชัดเจนว่าเรื่องเตาปูนมีมติแล้ว ให้ทาง สน.เตาปูน และนครบาล ทราบข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างนี้ ว่า วันนี้ อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.แล้ว เขาไม่มีอำนาจเรื่องเดิมก็ต้องส่งให้เรา ดังนั้น ใครมีหน้าที่อะไร ตามกฎหมาย ก็ทำไปตามหน้าที่นั้น ถ้าคิดว่าป.ป.ช.ทำไม่ถูกต้อง ก็มีกระบวนการที่จะตรวจสอบและถ้าป.ป.ช.เห็นว่าเขาทำไม่ถูกต้อง ก็มีกระบวนการที่จะต้องตรวจสอบเช่นกัน” ประธานป.ป.ช. กล่าว
ส่วนหนังสือของ บช.น.ที่ระบุว่า กฎหมายฟอกเงินไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. และการที่ศาลอาญาออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ก็ถือว่า เป็นคดีอาญานั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ก็เป็นอำนาจศาลที่จะพิจารณา แต่จากเอกสารที่ได้รับนั้นมีบางส่วน กรณีที่ศาลออกหมายจับ มีบันทึกระบุว่า ศาลได้ถามเจ้าหน้าที่แล้วว่า เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ไม่เกี่ยว ศาลจึงออกหมายจับดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่
สำหรับสำนวนคดี สน.เตาปูน ที่ทางป.ป.ช. คืนให้กับทางตำรวจนครบาลนั้น มีประมาณกว่า 10 คน ที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. ส่วนที่เหลือเมื่อวินิจฉัยว่าเป็นความผิดร้ายแรง และความผิดเกี่ยวเนื่องกัน ทางป.ป.ช.ก็ต้องรับมาดำเนินการและทำให้โปร่งใส รวดเร็ว ดังนั้นใครทำหน้าที่อะไรก็ทำไป
กรณีที่มีการล่ารายชื่อถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่าเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งมีเงื่อนไขอยู่แล้วว่า ป.ป.ช. จะถูกตรวจสอบด้วยเรื่องอะไรได้บ้าง ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันได้ 20,000 ชื่อ ส่งข้อกล่าวหาไปยังสภาได้ และถ้าสภาตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลักฐานก็อาจจะมีมติส่งให้ประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งผู้ไต่สวนอิสระ และกรรมการ ป.ป.ช. ที่ถูกกล่าวหาก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ กรรมการป.ป.ช.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นอดีตตุลาการ ในชั้นศาลฎีกา และเป็นตุลาการผู้ใหญ่ ทุกเรื่องเมื่อพิจารณาแล้วจะต้องเป็นมติของกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมและจะรีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่ที่ยังทำไม่ได้รวดเร็วเพราะทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ส่งเรื่องคืนมาให้เรา ต้องเตือนไปถึง 2 ครั้งแล้ว ถ้ายังไม่ส่งอีกก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป็นไปตามกฎหมายเช่นเดียวกันกับที่เขาบอกว่า เราละเว้น ถ้าคิดว่าเราทำผิดก็ดำเนินการ และหากเขาทำไม่ถูกต้องก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดียวกัน.-312 -สำนักข่าวไทย