ศาลฎีกา 30 พ.ค. – ศาลฎีกาโดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้อง “ปารีณา” ยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ
ศาลฎีกาโดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้อ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.10/2567 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ผู้ถูกกล่าวหา คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วย ข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 วรรคสอง (1) ขอให้ลงโทษตามมาตรา 167 และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 81 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 22 พ.ย. 66 ขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้อง
ศาลฎีกาโดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 15 ก.พ. 67 สำหรับรายการเงินให้กู้ยืมรายนาย ป องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่นาย ป ข้อหาฉ้อโกงและออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ตั้งแต่ก่อนที่จะมีผู้ยื่นหนังสือขอให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบและเปิดเผยรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินครั้งนี้ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหายังใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องเรียกเงินตามสัญญาเงินกู้จากนาย ป โดยในคดีดังกล่าวนาย ป และนาย ส เบิกความและตอบคำถามค้านไว้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาให้เงินสนับสนุนนาย ป ในการหาเสียงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบล เมื่อประมาณปี 2555 และได้ความจากผู้ถูกกล่าวหากับนาย อ เบิกความทำนองเดียวกันเกี่ยวกับความเป็นมาของมูลหนี้ตามสัญญาเงินกู้ ว่ามีมูลหนี้เดิมที่ผูกพันกันมาก่อน ทั้งนาย ป ลงลายมือชื่อในสัญญาเงินกู้ โดยไม่มีการข่มขู่บังคับ ถือว่ายินยอมลงลายมือชื่อในสัญญาเงินกู้ด้วยความสมัครใจ พฤติการณ์ของนาย ป จึงสอดคล้องกับลำดับเหตุการณ์ และทางนำสืบเกี่ยวกับความเป็นมาของมูลหนี้ของผู้ถูกกล่าวหาอย่างสมเหตุสมผล
ส่วนถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาในชั้นไต่สวนของผู้ร้องและคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนก็ไม่เป็นข้อพิรุธถึงขนาดต้องนำมารับฟังผูกพันผู้ถูกกล่าวหาเป็นเด็ดขาดไม่ พฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาฟ้องนาย ป เป็นคดีแพ่งเรียกเงินตามสัญญาเงินกู้มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และการที่นาย ป ยินยอมลงลายมือชื่อในสัญญาเงินกู้และเช็คแล้วส่งมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาไว้พร้อมกับโฉนดที่ดิน ซึ่งหากเห็นว่าไม่มีความรับผิดต่อกันจริงย่อมเป็นเรื่องผิดวิสัยของวิญญูชนที่ยินยอมส่งมอบทรัพย์สินหรือกระทำการใดในลักษณะประกันการชำระหนี้ไว้แก่ผู้ถูกกล่าวหา
พฤติการณ์แห่งคดีย่อมมีเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่า ตนมีสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามสัญญาเงินกู้ได้ ส่วนที่ว่ามูลหนี้ตามสัญญาเงินกู้จะบังคับได้หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องทางแพ่งที่ต้องพิจารณาแยกต่างหาก จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินส่วนนี้
สำหรับรายการพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย และพระสมเด็จนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่นั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบพระเครื่องที่ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกับที่ผู้ถูกกล่าวหานำมาแสดงมีลักษณะและรูปทรงเดียวกัน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหายืนยันตั้งแต่ชั้นไต่สวนของผู้ร้อง ว่าพระเครื่องทั้งสององค์ที่ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นพระเครื่องที่นาย อ มอบให้ระหว่างสมรส โดยแจ้งว่าเป็นพระเครื่องใดกับแจ้งราคาให้ทราบ ส่วนกรอบพระเครื่องแม้มีความแตกต่างกัน แต่ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบมุ่งเน้นการแสดงทรัพย์สินในส่วนองค์พระเป็นสำคัญ กรอบพระเครื่องที่แตกต่างกันมิใช่สิ่งยืนยันแน่ชัดว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องรู้ว่าพระเครื่องที่อยู่ในกรอบนั้นเป็นคนละองค์กัน นอกจากนี้ นาย อ ให้ถ้อยคำต่อผู้ร้องและเบิกความว่า เคยให้ผู้ถูกกล่าวหายืมใส่พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้ายที่เคยแสดงไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนคู่สมรสในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2556 และพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีเมื่อปี 2557 ภายหลังจดทะเบียนหย่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้คืนพระเครื่องให้
นอกจากนี้ ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว ในส่วนทรัพย์สินของคู่สมรสมีทรัพย์สินที่เป็นพระเครื่องอื่นอีกหลายรายการ รวมถึงมีพระสมเด็จที่มีรูปทรงพิมพ์คล้ายกันอยู่อีก ยิ่งสนับสนุนให้เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าพระเครื่องที่ตนครอบครองคือพระเครื่องทั้งสององค์ที่ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงรายการพระเครื่องทั้งสององค์ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมาโดยตลอด
ทั้งผู้ถูกกล่าวหายินยอมส่งมอบพระเครื่องที่ตนครอบครองให้ผู้ร้องตรวจสอบด้วยดี โดยไม่ปรากฏมูลเหตุจูงใจใดให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องปกปิดทรัพย์สินหรือแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าพระเครื่องที่ตนครอบครองเป็นพระเครื่ององค์เดียวกับที่ระบุไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินส่วนนี้เช่นกัน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกคำร้องมานั้น องค์คณะวินิจฉัย อุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน.-314.-สำนักข่าวไทย