กทม. 17 พ.ค.- “สมศักดิ์” เคาะปรับลดปริมาณครอบครองยาบ้า เหลือ 1 เม็ดเป็นผู้เสพ ย้ำ ยาบ้า 1 เม็ดมีความผิด ผุดไอเดีย “1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อเป็น 1 ผู้ผลิต” หวังตามยึดทรัพย์ เผย เปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ สธ. 15 วัน ก่อนชง ครม.พิจารณาต่อ
วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม ป.ป.ส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุม
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม รวมถึงการตีความและการใช้บังคับกฎหมาย เช่น ผลสำรวจนิดาโพล มีประชาชนมากกว่าร้อยละ 67 ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ทำให้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ โดยปรับลดยาบ้าให้เหลือ 1 เม็ด เพื่อเป็นหลักให้ผู้ปฏิบัติงานและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 พ.ค.67 เพื่อประเมินผลกระทบ ซึ่งพบว่าเกิดผลกระทบสังคม การบังคับใช้กฎหมาย และการแพทย์ เช่น ผู้ค้าใช้ช่องว่างของกฎหมายในการแบ่งบรรจุจำหน่าย เพื่อหลบหลีกการถูกดำเนินคดีในฐานความผิดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า จึงเห็นชอบแก้ไขกฎกระทรวง พร้อมวางกรอบระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยจะลดปริมาณของแอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือ มีน้ำหนักสุทธิ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม จากเดิม ที่มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม เมทแอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือ มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือ ในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม จากเดิม ที่มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม หรือ ในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
ภายหลังการประชุม นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การประชุมวันนี้ ได้กำหนดเส้นแบ่งการทำคดียาเสพติด เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ โดยมีมติปรับลดปริมาณยาบ้าที่สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เหลือ 1 เม็ด แต่ขอเน้นย้ำว่า ยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด เพราะต้องพิสูจน์ต่อด้วยว่า เป็นผู้เสพ หรือ ผู้ขาย หากเป็นผู้เสพก็ต้องเข้ารับการบำบัด พร้อมต้องขยายผลตามแนวนโยบาย “1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อเป็น 1 ผู้ผลิต” ดังนั้น มียาบ้า 1 เม็ด ก็ต้องถูกขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้ เรามีผู้แทนแต่ละกระทรวง ที่อยู่ตามชุมชน ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตา และหากใครแจ้งเบาะแสก่อน ก็รับรางวัลนำจับ 5%
เมื่อถามว่า เหตุผลในการปรับเหลือ 1 เม็ด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชน สะท้อนสิ่งที่เสียหายมาเป็นจำนวนมาก พร้อมพิจารณาสถิติการจับกุมที่สูงขึ้น จึงมีการปรับลดเหลือ 1 เม็ด แต่ก็ยังมีความผิด ต้องถูกสอบสวนเพื่อขยายผลให้ได้ผู้ขาย และผู้ผลิตต่อไป ซึ่งจากนี้ ก็จะรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หากเห็นตรงกัน ก็จะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
โดยวันนี้ ทางเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแบบฟอร์มแสดงความคิดเห็นร่างกฎหมายกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่กระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ได้บังคับใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ประกอบกับสถานการณ์ ยาเสพติดประเภทแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนมีมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายการจัดปัญหายาเสพติด ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดปริมาณยาเสพติดดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ยาเสพติดปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน
โดยสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งแต่ วันนี้ (17 พ.ค.) จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2567 . 420 .-สำนักข่าวไทย