กรุงเทพฯ 17 เม.ย.- คลังไม่หวั่น ความขัดแย้ง อิสราเอล-อิหร่าน กระทบต่อเศรษฐกิจไทย ห่วงความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น มั่นใจว่านโยบายการคลังช่วยหนุนจีดีพีไทยในปี 67
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง กำลังติดตามและประเมินผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอย่างใกล้ชิด มองว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก เพราะความขัดแย้งอยู่ในวงจำกัดและการหาทางออกของความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ ทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สศค. ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ตลาดเงินและตลาดทุนโลกและไทยที่มีความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนได้จากดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวลดลงในช่วงวันหยุดสงกรานต์ของไทย สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เพราะนักลงทุนประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำ ตลาดหุ้นไทย (17 เมษายน 2567) มาจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านเช่นเดียวกัน ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยเปิดทำการหลังวันหยุดสงกรานต์ ประกอบกับยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การกำหนดวันจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลง เป็นต้น
- ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยพบว่า ราคาน้ำมันดิบและราคาทองคำปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังเหตุการณ์ความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงอยู่ในช่วง 85 – 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เท่ากับช่วงก่อนเหตุการณ์ความขัดแย้ง ทั้งนี้ ประเมินว่าประเทศอิหร่านมีสัดส่วนส่งออกน้ำมันดิบเพียงร้อยละ 1.5 ของการส่งออกน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงประเมินว่า หากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ลุกลามจะไม่เป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
- การค้าระหว่างประเทศของไทยได้รับผลกระทบน้อย ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศอิสราเอลและอิหร่านเพียงร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการส่งออกในปี 2566 (284.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าของไทยจากประเทศอิสราเอลและอิหร่านมีสัดส่วนที่ต่ำเพียงร้อยละ 0.15 และร้อยละ 0.003 ของมูลค่าการนำเข้าในปี 2566 (289.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ
- การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจำกัด โดยไทยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศอิสราเอลและอิหร่านเพียงร้อยละ 1.0 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดในปี 2566 (28.2 ล้านคน) โดยมีการใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2566 (1.2 ล้านล้านบาท) ดังนั้น จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยไม่มากนัก
- การลงทุนของไทยกับประเทศอิสราเอลและอิหร่านยังมีมูลค่าน้อยมาก โดยยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากอิหร่านในไทย ในปี 2566 มีมูลค่าอยู่น้อยมากที่ 16.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเพียงสัดส่วนร้อยละ 0.01 ของมูลค่ายอดคงค้างเงินลงทุนรวมจากต่างประเทศในไทยทั้งหมด (308.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในด้านการลงทุนระหว่างไทยและประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากกลุ่มตะวันออกกลางในไทย พบว่า ในปี 2566 มีเพียง 714.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 0.23 ของมูลค่ายอดคงค้างเงินลงทุนรวมจากต่างประเทศในไทยทั้งหมด ทำให้ไทยได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะมีสัดส่วนการลงทุนต่ำมาก
สศค. ได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอย่างใกล้ชิดและเชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายการคลังในระยะต่อจากนี้ไป จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง.-515 สำนักข่าวไทย