กรุงเทพฯ 15 เม.ย.- “อนุสรณ์” นักเศรษฐศาสตร์ คาดรัฐบาลอาจขยับเพดานกู้กึ่งการคลัง ม.28 เพิ่มเป็น 35% ของงบประมาณ หากกู้ ธ.ก.ส. 1.7 แสนล้าน หนุนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเกษตรกร ต้องชดเชย 4-5 หมื่นล้าน/ปี
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตกรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เป็นแบงก์รัฐ ช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล การใช้สภาพคล่องที่เหลืออยู่ของ ธ.ก.ส. ในการสนับสนุบโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยการกู้เงิน 1.7 แสนล้านบาท โดยต้องทำบนเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ประการแรก ต้องมีความมั่นใจว่า ธกส มีสภาพคล่องเพียงพอในการสนับสนุนโครงการรัฐ
- ประการที่สอง ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อการฝากเงินกับ ธ.ก.ส.
- ประการที่สาม แยกบัญชี PSA เพื่อสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กับบัญชีดำเนินงานทั่วไป
- ประการที่สี่ กำหนดแผนชำระเงินคืนและชดเชยรายได้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณจ่ายชดเชยและชำระคืนให้ ธ.ก.ส. อย่างชัดเจน ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท หากสนับสนุนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามกฎหมายและบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี จะไม่มีปัญหาใดๆ ต่อฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. และเม็ดเงิน แจกให้เกษตรกร ควรนำไป สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ พัฒนาความรู้ในด้านเกษตร
- ประการที่ห้า การแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ผ่านการใช้สภาพคล่อง ธ.ก.ส. เป็นการดำเนินการมาตรการกึ่งการคลังและก่อหนี้ผูกพันผ่านหน่วยงานของรัฐ ตามกรอบมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อควบคุมไม่ให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินตัว รัฐบาลสามารถขยับเพดานหนี้และภาระผูกพันตามมาตรา 28 กฎหมายวินัยการเงินการคลังจากร้อยละ 32 เพิ่มเป็นร้อยละ 35 ของงบประมาณได้ หากจำเป็นต้องใช้เงินนอกงบประมาณดูแลประชาชนหรือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ต้องระวังภาระผูกพันเหล่านี้จะกลายเป็นหนี้สาธารณะ รัฐบาลไม่สามาถเก็บภาษีหรือหารายได้เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
“การให้แบงก์รัฐ สนับสนุนนโยบายรัฐ แล้วทยอยตั้งงบประมาณมาชดเชยค่าใช้จ่ายและรายได้ให้กับรัฐวิสาหกิจในภายหลังตามมาตรา 28 นี้ถือเป็น “เงินนอกงบประมาณ” เป็น “มาตรการกึ่งการคลัง” จึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะในครั้งแรก จึงอาจก่อให้เกิดการประเมินหนี้สาธารณะต่ำกว่าความจริงได้ ปลายปี 2567 เมื่อ ธ.ก.ส. ดูแลเกษตรกร 17 ล้านคน ผ่านกลไกมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68 สามารถดำเนินการได้ ตามเงื่อนไข 5 ประการข้างต้น บริหารความเสี่ยงภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) จะทำให้มาตรการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจทั้งมิติการเติบโต มิติความเป็นธรรมและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังมากขึ้นในอนาคต” .-515 -สำนักข่าวไทย