กรุงเทพฯ 10 เม.ย.-รมช.คลัง มอบนโยบาย บสย. เร่งช่วย SMEs แก้หนี้ ชูกลไก “ค้ำประกัน” ขับเคลื่อน IGNITE Thailand
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบาย แก่ผู้บริหาร บสย. 3 เรื่องหลัก คือ 1.เรื่องแก้หนี้ SMEs โดยเห็นว่าเรื่องหนี้ครัวเรือนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือ 2.มอบหมายให้ บสย. ใช้กลไกการค้ำประกัน เป็นหลักประกันช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ 3. มอบหมายให้ บสย. ร่วมขับเคลื่อน โครงการ IGNITE Thailand เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล บสย. มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme หรือ PGS ต่อเนื่องจนถึง PGS 10
ขณะนี้กำลังเร่งพิจารณาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 โดยเร็ว เพื่อความต่อเนื่อง ซึ่งเห็นว่าผลดำเนินงาน บสย. ในตลอดระยะเวลา 33 ปี ได้ช่วย SMEs มากกว่า 8 แสนราย และมี Outstanding การค้ำประกัน รวมกว่า 6 แสนล้านบาท เพื่อช่วยในมิติจำนวนราย ถือว่า บสย. ช่วยรายย่อยได้มาก พร้อมมอบแนวทางร่วมหน่วยงานรัฐแก้ปัญหา ซึ่งจากนี้ไป บสย. และหน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาหนี้ และการช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่ง บสย. ต้องพร้อมเป็นกลไกหลักช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อสามารถเพิ่มสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อได้แล้วกว่า 25% ของจำนวน SMEs ในระบบ และช่วย SMEs ลูกหนี้แก้หนี้ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลการแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้มาตรการ 3 สี ของ บสย. ช่วยแก้หนี้สำเร็จคิดเป็นมูลหนี้ปรับโครงสร้างกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปี บสย. ซึ่งได้นำระบบดิจิทัล Digital Technology ขับเคลื่อนองค์กร ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมตามเป้าหมาย SMEs Digital Gateway เชื่อมโยง Eco System ระหว่าง บสย. และสถาบันการเงิน.-515.-สำนักข่าวไทย
นักวิชาการ ชี้งบดิจิทัลวอลเล็ตไม่คุ้มกระทบเศรษฐกิจไทยระยะยาว นักวิชาการ, ดิจิทัลวอลเล็ต, เศรษฐกิจไทย, งบปี 68, ธ.ก.ส., ขีดความสามารถประเทศ, นิพนธ์ พัวพงศกร, กรุงเทพฯ 10 เม.ย.-นักวิชาการ มองงบดิจิทัลวอลเล็ตไม่คุ้ม เบียดงบ เพิ่มขีดความสามารถของประเทศกระทบเศรษฐกิจไทยระยะยาว จี้รัฐแจงการใช้งบปี 68 และ ธ.ก.ส. เพราะสุดท้ายก็เป็นการกู้และมีภาระดอกเบี้ย
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า การแถลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต วันนี้ (10 เม.ย.)ว่า รัฐบาลทำการบ้านมาดีกว่าครั้งที่ผ่านๆมา อย่างไรก็ตามมองว่า นโยบายนี้ เป็นนโยบายหวังผลทางการเมืองต้องการโกยคะแนนเลือกตั้งครั้งหน้าให้มีชัยเหนือพรรคก้าวไกล เพราะหากดูภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ไม่เป็นวิกฤต การส่งออกและการบริโภคในประเทศก็ขยายตัวดีขึ้น การใช้วงเงิน ถึง 5 แสนล้านบาท แจกเงิน 1 หมื่นบาทแก่ 50 ล้านคนเป็นวงเงินที่สูงมาก มีเพียงผลระยะสั้น หากจะช่วยควรจะเป็นเฉพาะกลุ่มฐานรากที่เดือดร้อน และวงเงินนี้ก็จะกระทบต่องบประมาณด้านอื่นๆในอนาคต และหากเทียบกับวงเงินนี้กับวงเงินที่รัฐบาลจะสนับสนุนขีดความสามารถของประเทศ 1 แสนล้านบาทแล้ว แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมากในขณะที่ประเทศชาติกำลังเสียเปรียบเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศระยะยาว
ที่สำคัญอยากให้รัฐบาลมอบหมายหน่วยงานวิจัย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ว่าจ้างทีมวิจัยที่เป็นอิสระ ศึกษษถึงผลกระทบในระยะยาว หรือ 3-5 ปีข้างหน้าว่าหลังจากออกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไปแล้วเกิดวิเคราะห์ว่าผลกระทบระยะยาวเกิดผลดีหรือความเสียต่อประเทศอย่างไร เพื่อประเมินผลให้ได้แล้วนำรายงานเสนอต่อรัฐสภาในอนาคตเพื่อให้เป็นบทเรียนของพรรคการเมืองว่า นโยบายที่ไม่รอบคอบจะเกิดปัญหาอะไรต่อประเทศ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายเหมือนโครงการจำนำข้าวในอดีต ที่กระทบหลายแสนล้านบาท
“ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการแจกเงินระยะสั้น ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแจกเงินถึง 5 แสนล้านบาท ล่าสุด เศรษฐกิจก็ดีขึ้นส่งออกก็ขยายตัว การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น ประเทศไทยไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจระยะสั้น แต่เป็นวิกฤติด้านโครงสร้าง ถ้าประชาชนฐานรากเดือดร้อน ก็ควรจะจำกัดการช่วยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนดีกว่าการหว่านเงินเช่นนี้ แบบนี้ก็เป็นการพิสูจน์ชัดเจนว่าเป็นการทำเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเป็นหลักมากกว่าเป้าหมายการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ” รศ.ดร.นิพนธ์
รศ.ดร.นิพนธ์ มองว่า ที่มาของเงิน 3 แหล่งวงเงิน 5 แสนล้านบาทในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก้อนแรกมาจากงบฯ67 ก็ไม่น่ามีข้อสงสัยใดใด ว่าสามารถเกลี่ยมาได้เพราะปกติงบฯลงทุนก็ใช้ประมาณร้อยละ 70 ที่เหลือก็เกลี่ยมาได้ แต่ที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร เพราะในอนาคตต้องมีการกู้เงินมาคืนทั้งเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ งบฯปี 68 ที่จะนำมาใช้ในต้นปีงบประมาณ 68 จะกู้เงินมาจากกองทุนฯไหน ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ซึ่งภาพรวมแล้วการใช้เงินก็เป็นการกู้อยู่ดีที่พยายามกู้ที่ถูกกฏหมาย
“เงิน ธ.ก.ส. และเงินงบฯ 68 ต้องมีการกู้มาและใช้คืน ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะกู้จากกองทุนฯภายใต้การกำกับของรัฐ กองทุนฯใด เช่น หากกู้จากกองทุนประกันสังคม ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ถือว่าเป็นการกู้แบบแอบแฝง ก็ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงให้ชัดเจนว่า เงินจะมาจากกองทุนฯไหน และชำระหนี้อย่างไร จ่ายดอกเบี้ยเท่าใด แล้วแถลงให้รัฐสภาทราบอย่างชัดเจน เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลควรทำการบ้านเรื่องนี้มาก่อน เพราะมีเวลาตั้งนานก่อนที่จะแถลงในวันนี้” รศ.ดร.นิพนธ์ ระบุ
นอกจากนี้จากการใช้งบฯ 68 และการใช้เงินจาก ธ.ก.ส. เป็นการเบ่งเงินกู้ถึงระดับเพดานกู้สูงสุด คำถามคือจะเป็นการเบียดงบประมาณอื่นๆ แล้วภาครัฐจะมีวงเงินมาแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวอย่างไรเพราะจะต้องใช้เงินหลายปีนับหลานแสนล้านบาท เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความสามารถ ด้านดิจิทัล การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน จึงเกรงว่า ใน 2-5 ปีข้างหน้าจะไม่มีเงินลงทุนด้านนี้หรือมีก็จะเป็นแบบจำกัดมาก และจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอลง
ทั้งนี้ รัฐบาลแถลงแหล่งเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทที่จะเริ่มแจกเงินในไตรมาส 4 /67 วงเงินราว 5 แสนล้านบาท รวม 50ล้านคนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน8.4 แสนบาท โดยใช้ เงินจาก 3 ส่วนได้แก่ งบฯปี 68 วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท, ใช้เงินจาก ธ.ก.ส. 1.72 แสนหมื่นล้าน เพื่อดูแล เกษตรกร 17 ล้านคนเศษ และบริหารจัดการงบปี 67และงบกลางฯ วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท.-511.-สำนักข่าวไทย