กทม. 2 เม.ย.- ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษา คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา เมื่อปี 58 มีจำเลยมากถึง 103 คน ทั้งนักการเมือง คนดัง และนายทหารระดับนายพล ในพื้นที่ภาคใต้
บรรยากาศที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม และทัณฑสถานหญิงกลาง มาฟังคำพิพากษาฎีกา คดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ที่พนักงานอัยการคดีปราบปรามการค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายบรรณจง หรือ “โกจง” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา กับพวกรวม 103 คน ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ฯ ร่วมกันเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งคดีนี้ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ตกเป็นจำเลยที่ 54 และได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยมีญาติของจำเลยทยอยเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาด้วย
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อเดือน ม.ค. 2554 – 1 พ.ค. 2558 จำเลยร่วมกันหลอกขู่บังคับชาวบังกลาเทศ และชาวโรฮีนจากว่า 80 คน จากประเทศบังกลาเทศ และประเทศเมียนมา เข้ามายังประเทศไทย เพื่อเตรียมส่งไปทำงานประเทศมาเลเซีย โดยพฤติกรรมของจำเลยจะมีการแบ่งหน้าที่กันทำ ทั้งเป็นนายหน้าชักชวนผู้เสียหายว่าจะส่งไปทำงาน ซึ่งมีทั้งผู้เสียหายที่หลงเชื่อและที่ไม่สมัครใจ มีการใช้กำลังหรืออาวุธปืนประทุษร้ายและข่มขู่ผู้เสียหายด้วย โดยเมื่อรวบรวมชาวต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ 200-500 คน จะส่งขึ้นเรือลำใหญ่ที่จอดลอยลำอยู่กลางทะเล ที่มีผู้ควบคุมโดยใช้อาวุธปืนไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี จากนั้นจะมีเรือเล็กรับผู้เสียหายขึ้นฝั่งไปพักในเขต จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา โดยจะขายผู้เสียหายคิดเป็นเงินไทยคนละ 60,000-70,000 บาท
ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 540 หน้า นานร่วม 12 ชั่วโมง พิพากษาจำคุก จำเลย 61 คน ตั้งแต่ 4-79 ปี และยกฟ้อง 40 คน ต่อมาศาลอุทธรณ์ สั่งแก้โทษ จำคุกจำเลย 55 คน จากเดิมที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไว้ 61 คน ส่วนจำเลยที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 40 ราย เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก้ในส่วนของจำเลยต่างๆ แล้ว คงเหลือจำเลยที่ศาลยกฟ้องเพียง 26 รายเท่านั้น
การนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้ สืบเนื่องมากจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษา แล้ว แต่เนื่องจากทนายความของ นายอาบู หรือ สจ.บู จำเลยที่ 14 อ้างว่า ลูกความเสียชีวิตแล้วเมื่อปี 66 แต่ทางทนายไม่ได้แจ้งให้ศาลทราบ ประกอบกับ นายสมพล อดีต สจ.สตูล จำเลยที่ 37 ทราบนัดแล้วไม่เดินทางมาศาล ศาลฎีกาจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 36 ให้ ออกหมายจับ และเลื่อนการอ่านคำพิพากษามาในวันนี้ โดยจนถึงขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการอ่านกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังศาลอาญา ยังไม่แล้วเสร็จ และคาดว่าการอ่านคำพิพากษาจะใช้เวลานานหลายชั่วโมง เนื่องจากในคดีนี้มีจำเลยจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย