กรุงเทพฯ 1 เม.ย. – จิตแพทย์ชี้สถานการณ์สุขภาพจิตเชื่อมโยงกับเหตุรุนแรง ขณะสถิติพบไทยมีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการเกือบ 3 ล้านคน คาดในจำนวนนี้ 1 ใน 5 เกิดจากปัจจัยใช้ยาเสพติด
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีเหตุการณ์คนคลั่งจากอาการทางจิตเวช และมีการใช้ยาเสพติด ก่อเหตุรุนแรงถึงขั้นทำร้ายผู้อื่นและคนในครอบครัวจนเสียชีวิต ระบุว่า อาการผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการคลั่งนั้นมักมีอาการรับรู้ความเป็นจริงที่ผิดเพี้ยนไป เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวง
ลักษณะอาการทางจิตเวชแบบนี้หากเกิดจากโรคทางจิตเวชทั่วไปมักเป็นโรคทางจิตเวชที่เป็นมานานแล้ว และไม่ได้รับการรักษา หรือเป็นในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง แต่บ่อยครั้งพบว่าปัจจัยมาจากเรื่องยาเสพติดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสมอง ทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนไป พอไม่รับรู้ความเป็นจริงก็จะแสดงออกพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พฤติกรรมแปลกๆ นำไปสู่การก่อความรุนแรงได้
ส่วนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ความสำคัญคือต้องได้รับการรักษาสม่ำเสมอ เพราะหลายกรณีผู้ป่วยจิตเวชไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังป่วย ดังนั้น ครอบครัวหรือคนที่อยู่ใกล้ชิดต้องสังเกตและช่วยเหลือ พาเข้าสู่การรักษาต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีโอกาสก่อความรุนแรงจากอาการที่หนักขึ้น โดยผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากการเสพยาเสพติดมีอยู่สองกรณีคือ กรณีใช้ยาครั้งแรกและเกิดผลกระทบทางจิตทันที กับอีกกรณีคือเป็นกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดมาเป็นระยะเวลานาน พอวันหนึ้งเมื่อหยุดใช้สมองอาจจะไม่กลับไปอยู่ในสภาพได้เดิมก็จะมีอาการทางจิตได้ ซึ่งการดูแลรักษาต้องดูเป็นรายกรณีไป
ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในจากระบบคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอยู่ที่ประมาณเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าในจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 5 ที่มาจากเรื่องยาเสพติด โดยอาการคลั่งนั้นบางครั้งมีโอกาสเกิดจากโรคทางอารมณ์ได้ เช่น ไบโพลาร์ หรือโรคจิตเภท ก็มีโอกาสคลั่งได้ แต่มีโอกาสเกิดน้อย นอกจากจะมีอาการที่รุนแรงมาก และไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ก็มีโอกาสเกิดได้ แต่ว่าน้อยกว่าเรื่องยาเสพติดเยอะ เพราะยาเสพติดแม้ใช้ครั้งหรือสองครั้งก็อาจเกิดอาการคลั่งได้
ส่วนการรักษาผู้ป่วยจิตเวชนั้น หากเป็นกรณีที่รับการรักษา และแพทย์ประเมินว่าสามารถรักษาเป็นผู้ป่วยนอกได้ เท่ากับว่าสามารถกลับมาอยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชนได้ ซึ่งจะต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ
โฆษกกรมสุขภาพจิต ย้ำว่า อยากให้ทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้นย่อมเคยมีการบ่งบอกสัญญาณมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากคำพูด ความคิด พฤติกรรมเล็กน้อย เช่น ความรุนแรงต่อสิ่งของ ต่อสัตว์ ก่อนที่จะไปก่อความรุนแรงต่อคนรอบข้างหรือกับสังคม ต้องใส่ใจ ซึ่งหลายครั้งที่พบว่ามีการส่งสัญญาณ แต่คนรอบข้างและสังคมไม่ได้สนใจหรือไม่อยากเข้าไปยุ่ง แต่พระราชบัญญัติสุขภาพจิต ปี 51 ระบุไว้ว่า หากเจอบุคคลที่สงสัยว่าจะป่วยทางจิตเวช และสมควรที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งกฎหมายให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถใช้กฎหมายดังกล่าวในการพาตัวคนนั้นเข้าสู่กระบวนการรักษาได้.-สำนักข่าวไทย