กรุงเทพฯ 9. ส.ค. – ไออาร์พีซีเดินหน้าแผน Beyond Everest เสนอบอร์ดไตรมาส 3/60 ลงทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์ ลดการผลิตน้ำมันเปลี่ยนเป็นปิโตรเคมี รับกระแส EV พร้อมลงทุนย่อยอีกหลายโครงการคาดปี 2561 สร้างกำไรสูงสุด
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นจากกระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาแทนที่น้ำมัน ซึ่งโรงกลั่นไออาร์พีซี จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและหันไปเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเคมีมาทดแทนน้ำมัน โดยโครงการล่าสุดที่จะดำเนินการและจะศึกษาเสร็จเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาในไตรมาส 3/2560 คือ โครงการ Beyond Everest ซึ่งจะประกอบด้วย 2 โครงการ คือ ขยายกำลังผลิตอะโรเมติกส์ 1.1 ล้านตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบจากโครงการ UHV และโครงการขยายกำลังผลิตแนฟทาแครกเกอร์ ทำให้ได้เอทิลีนเพิ่มอีกร้อยละ 50 หรือประมาณ 300,000 ตันต่อปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่ง 2 โครงการนี้จะช่วยเพิ่มกำลังผลิตปิโตรเคมีได้ร้อยละ 13-15 ของยอดกำลังกลั่น ซึ่งปัจจุบันทำปิโตรเคมีอยู่แล้วร้อยละ 15 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 28-30 เพื่อรับมือกับการหลีกหนีจากผลิตเบนซีนมาเป็นปิโตรเคมีแทน และในอนาคตอาจมาทดแทนการกลั่นน้ำมันดีเซล และจะส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มราคาตลาด(Market GIM) ยืนอยู่เหนือ20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 14.33 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
“การผลิตปิโตรเคมียังเติบโตได้อีกมาก ตราบใดที่เศรษฐกิจโลกยังขยายตัว เพราะหากจีดีพีโลกโตร้อยละ 3-3.5 ความต้องการปิโตรเคมีจะโตมากกว่า หรืออยู่ที่ร้อยละ 4-5 และราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐ โอกาสที่ไบโอเคมีจะเข้ามาทดแทนปิโตรเคมีเป็นไปได้ยาก” นายสุกฤตย์ กล่าว
ส่วนโครงการปรับปรุงคุณภาพการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์สะอาด (UHV) มูลค่าเงินลงทุน 34,000 ล้านบาทที่กำลังการผลิตยังไม่เป็นไปตามแผนนั้น บริษัทได้เตรียม 3 แนวทางปรับปรุงคือ
1. ปรับสูตรสารเร่งปฏิกิริยาเพื่อให้ได้พร็อบโพรลีน เป็นไปตามเป้าที่ 320,000 ตัน/ปี จากขณะนี้ผลิตได้เพียง 250,000 ตัน/ปี ทำให้มาร์จินต่ำกว่าเป้าหมายเดิม 30 เซนต์/บาร์เรล หรือรายได้หายไป 600 ล้านบาทเสร็จสิ้นปีนี้ 2. ติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (Catalyst Cooler) ในหน่วยเพิ่มมูลค่าน้ำมันหนัก โดยใช้ตัวเร่งปฏิกริยา ใช้เงินลงทุน 1,390 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จสิ้นปี2561โดยจะทำให้ใช้น้ำมันดิบคุณภาพหลากหลายต้นทุนจะต่ำลง และ 3.โครงการMax Gasoline ติดตั้งหอกลั่น ลงทุนอีก 1,100 ล้านบาท ปรับสูตรคุณภาพน้ำมันที่เดิมส่งออกให้สามารถจำหน่ายเบนซินG -Based ในประเทศไทยรองรับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ทำให้มีน้ำมันเบนซินจำหน่ายได้เพิ่มอีก 25 ล้านลิตร/เดือนจากปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าเบนซินเดือนละ 130 ล้านลิตร /เดือนโครงการนี้บริษัทได้มาร์จินเพิ่ม 40 เซนต์/บาร์เรล ลงทุน 1,100 ล้านบาท เสร็จสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
“ทั้ง 3 โครงการนี้จะทำให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มตามราคาตลาด(Market GIM) เพิ่มขึ้น 1.9-2.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สิ้นปี 2561 จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปี 2561เป็นปีกำไรดีที่สุดเป็นประวัติการณ์เพราะรับรู้ผบประโยขน์เต็มที่จาก UHV การขยายกำลังการผลิต PP และโครงการเอเวอร์เรสต์” นายสุกฤตย์ กล่าว
สำหรับโครงการขยาย PP หรือโพลีไพรไพลีนอีก 300,000 ตัน/ปีจากปัจจุบัน 475,000 ตัน/ปี จะก่อสร้างเสร็จสิ้นในเดือนไตรมาส 3/2560 ได้มาร์จิ้นเพิ่มอีก 1 ดอลลาร์/บาร์เรล เม็ดเงินลงทุน 200 ล้านดอลลาร์
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า หากโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลให้ในปี 2561 บริษัท มีกำไรมากสุดเป็นประวัติการณ์ และปีนี้จะพยายามรักษาทำกำไรสุทธิให้มากกว่าปี 2559 ที่มี 9,700 ล้านบาท แต่ก็ยอมรับว่าผลดำเนินการได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ช่วงต้นปี ราคาพร็อพไพลีนที่อ่อนค่าและโครงการ UHV ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปีนี้จะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) ได้ตามเป้าหมายที่ 7,000 ล้านบาท แม้ครึ่งแรกของปีจะทำได้ 2,350 ล้านบาท และตั้งเป้า EBIT ปี 2561 ที่ 10,000 ล้านบาท
สำหรับเงินลงทุนในอนาคตคาดว่าจะมาจากผลดำเนินการเป็นหลักและยังอยู่ในข้อกำหนดของ ปตท.ที่ให้บริษัทใรเครือรักษาระดับภาระหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 1 เท่าโดยปัจจุบัน ไออาร์พีซีอยู่ที่ 0.84 เท่า อย่างไรก็ตาม D/E อาจจะเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 1 เท่าหลังจาก สัญญาระยะเวลาการจ่ายค่าน้ำมันดิบ(Credit term) กับ ปตท. จะลดจาก 60 วัน เหลือ 30 วันในปีหน้า ซึ่งหากลดลงก็จะทำให้หนี้เงินกู้เพื่อซื้อน้ำมันดิบกลับเข้ามาเป็นภาระหนี้ปกติประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี.- สำนักข่าวไทย