จุฬาฯ 8 ส.ค. – สศช.พอใจเศรษฐกิจไทย 3 ปี โตต่อเนื่องตามโรดแมพของรัฐบาล ประเมินปีนี้ส่งออก ลงทุนภาครัฐ ท่องเที่ยว หนุนโตร้อยละ 3.5
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมกาารพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในการเสวนา “ทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2560” จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า เศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้อัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำ แต่หากพิจารณาทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจถือว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2557 และเป็นไปตามตามโรดแมพรัฐบาล ซึ่งการเติบโตระดับนี้ น่าพอใจ เพราะเติบโตจากที่เคยโตเพียงร้อยละ 0.9 ในปี 2557 แม้ในช่วง 2 ปีแรกภายใต้การบริหารรัฐบาลปัจจุบันจะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่มีด้านท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้จนปีนี้เศรษฐกิจต้นปีเติบโตร้อยละ 3.3 และเริ่มมีแสงสว่างทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้น
ขณะที่ปัญหาภัยแล้งผ่านไปแล้ว การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น การบริโภคและท่องเที่ยวดีขึ้น มีเพียงการลงทุนภาคเอกชนเท่านั้นที่ยังคงไม่ดีขึ้น ด้านการส่งออกจากที่เคยติดลบก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยด้านการส่งออกโตร้อยละ 0 ปีที่ผ่านมา แต่ดีขึ้นสามารถเติบโตต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 1-2 ปีนี้ ดังนั้น ปีนี้ สศช.จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะโตร้อยละ 3.5 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมามากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่การเติบโตระดับนี้ สศช.ยังเห็นว่าต่ำเมื่อเทียบกับเป้าหมายระยะยาวที่รัฐบาลมีนโยบายให้ประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงที่เศรษฐกิจแต่ละปีจะต้องเติบโตระดับร้อยละ 5 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังคงอยู่ระดับสูง ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่รัฐบาลจะมุ่งแก้ไขต่อไป
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกรียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ดีกว่าช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมามากที่โตประมาณร้อยละ 1.5 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากที่คาดว่าโตร้อยละ 3.4 เพิ่มเป็นโตร้อยละ 3.5 ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.8 หากเทียบกับการเติบโตเศรษฐกิจของไทยแล้ว ภาวะเศรษฐกิจไทยจัดได้ว่า เติบโตต่ำในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รายได้ต่อคนต่อปีของไทยปัจจุบันก็อยู่ในระดับ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เกิดจากวัฎจักรของเศรษฐกิจแต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ไขระยะเวลาอันสั้นไม่ได้
นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเบทาโกร กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะไปรอดหากพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจภาคเกษตรจะไปรอดค่อนข้างแน่ แต่ภาคเกษตรไทยจะไปรอดหรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ และขณะนี้ยังไม่ค่อยแน่ใจนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ไม่แน่ใจว่า ต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจะคุ้มค่าหรือไม่ที่ต้องแลกไป จึงรู้สึกห่วงจุดนี้ว่าแพงเกินไปหรือไม่ต้องจ่ายแลกกับสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการรื้อระบบโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จึงจะต้องหาทางปรับปรุงให้ทุกอย่างดีที่สุดก่อนรื้อระบบที่เป็นอยู่
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยชาติได้อย่างไร” ว่า วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเครื่องมือใหม่ ๆ จะมีส่วนช่วยยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวข้ามการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางของประเทศไทยได้ ปัจจุบันคนไทยมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงใช้ในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังประสบปัญหาโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่มีกว่า 10,000 โครงการ ส่วนใหญ่ไม่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคธุรกิจเองในช่วงก่อนหน้านี้ก็เลือกซื้อเครื่องจักร เพื่อนำมาผลิตสินค้า ไม่สนใจนำงานวิจ้ยมาใช้ แต่ผลจากการที่รัฐบาลส่งเสริมโดยให้สิทธิประโยชน์นำรายจ่ายงบวิจัยและพัฒนาไปลดภาษีได้ก็ช่วยให้ภาคเอกชนให้ความสนใจมีการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ ภาคเอกชนเป็นผู้นำการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาแล้ว ด้วยสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70 ขณะที่ภาครัฐมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
ด้านกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องการส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในลักษณะคอนซอร์เตียม ที่ภาคเอกชนร่วมกันด้านงานวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งกลุ่ม THECH STARTUP เป็นกลุ่มที่ภาครัฐต้องการส่งเสริม โดยควรมีเวทีเปิดให้เอกชนเข้ามาเลือกร่วมลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งหลายประเทศให้ความสนใจแนวทางนี้ ส่วนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่มีจำนวนรวม 2.7 ล้านราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการและภาคการค้า รวมถึงโอทอป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน จำเป็นต้องแสวงหาแนวทางที่จะนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่กลุ่มดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่ง SCIENCE PARK ต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมได้สู่ภาคเอกชนได้
นางอรรชกา กล่าวว่า ล่าสุดนายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการจัดตั้งสำนักเลขาสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหวังว่าหน่วยงานนี้จะช่วยจัดสรรงบประมาณปี 2562 เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ต่อไป. -สำนักข่าวทไทย