กระทรวงคลัง 22 มี.ค. – คลังดึงแบงก์รัฐ ลดก่อน ผ่อนภาระประชาชน เตรียม 5 โครงการ เสนอ ครม.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วย 3 กลุ่มเอสเอ็มอี สินเชื่อฉุกเฉิน เน้นกลุ่มบัตรสวัสดิการ 10 ล้านคน คลังออกโรงหนุน ธปท.ลดดอกเบี้ยลดต้นทุนการลงทุนใหม่
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว คาดการณ์ว่าขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2567 ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของ กน. ร้อยล 2.5 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ ติดลบร้อยละ -0.8 ในเดือน ก.พ.67 และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 บ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ เมื่อดอกเบี้ยตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น
คลังจึงเตรียมเสนอ ครม.ออกสินค้าดอกเบี้ยต่ำในช่วงเดือนเมษายนนี้ รองรับนายกรัฐมนตรีประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND ด้วยการดึงแบงก์รัฐ ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม เพื่อให้เกิดการลงทุนเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางด้านอาหารในภูมิภาค นอกจากนี้ยังให้ออมสินออกสินเชื่อฉุกเฉินในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ กู้ 5 หมื่นบาทต่อราย ขณะที่เอ็กซิมแบงก์ ปล่อยกู้เริ่มต้นเพื่อการส่งออก วงเงิน 5 ล้านบาท ปีแรก คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5.75 สินเชื่อเติมทุนวงเงิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ในปีแรก เมื่อรวมวงเงินสินเชื่อ ทั้งมาตรการเดิมและมาตรการใหม่ เตรียมเสนอ ครม.ช่วยเหลือประชาชนถึง 4 แสนล้านบาท
การรวมตัวกันของแบงก์รัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ด้วยการลดหรือตรึงดอกเบี้ย พร้อมทั้งจัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนขอกู้ด้วยดอกเบี้ยต่ำ ที่ผ่านมาแบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลงร้อยละ 0.15 ต่อปี จากร้อยละ 6.995 เหลือร้อยละ 6.845 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีโครงการบ้าน ธอส.สุขสบาย เพื่อให้ลูกหนี้เดิมของ ธอส.สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้
เอสเอ็มอีแบงก์ ได้ออกโครงการสินเชื่อ SME Refinance เพื่อลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ นอกจากนี้ แบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มลูกหนี้ SMEs รวมทั้งมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยแบงก์รัฐ จะนำมาตรการเดิมมาปัดฝุ่น ปรับเงื่อนไข และขยายเวลาโครงการเดิม การจัดโปรโมชั่นเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อส่งสัญญานไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ทั้งการลดดอกเบี้ย การพักหนี้การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น
“คลังหวังว่าการประชุมคณะกรรมการ กนง.ในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะพิจารณาปัจจัยรอบด้านมากขึ้น เพราะเฟด และธนาคารอังกฤษ คงดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังสูงอยู่ ต้องการให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย ในส่วนของไทย อัตราเงินเฟ้อติดลบ และอยู่ในระดับต่ำ จึงมีส่วนต่างเพียงพอในการลดดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เมื่อภาคเอกชนมองเห็นสัญญาณ จะได้ตัดสินใจวางแผนลงทุนใหม่ คลังมองว่า การลดดอกเบี้ยไม่ช่วยให้หนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารต่างๆมีข้อกำหนดปล่อยกู้ที่เข้มงวด ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง หนี้ครัวเรือนจะพุ่งสูงทันที หากลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จะเพิ่มการบริโภคร้อยละ 0.15 เพิ่มการลงทุนร้อยละ 0.16 นับว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อีกมาก” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว. -515- สำนักข่าวไทย