สนพ.คาดยอดใช้พลังงานปี 67 โต 3.1% ขณะที่ปี 66 โต 0.8%

กรุงเทพฯ 18 มี.ค. – สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยยอดใช้พลังงานขั้นต้นปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.8 เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ระดับ 2,007 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ


นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในปี 2566 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ระดับ 2,007 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 9.1 จากฐานที่ต่ำกว่าปกติของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าตามความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลงร้อยละ 6.4 เนื่องจากมีปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ลดลงจากปัญหาภาวะภัยแล้ง ซึ่งสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงปี 2566 สรุปได้ ดังนี้

การใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 อยู่ที่ระดับ 138.4 ล้านลิตรต่อวัน โดยการใช้น้ำมันดีเซล ลดลงร้อยละ 5.7 เฉลี่ยอยู่ที่ 68.9 ล้านลิตรต่อวัน การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.4 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.9 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.7 ล้านลิตรต่อวัน ด้านน้ำมันเตา ลดลงร้อยละ 15.8 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.4 ล้านลิตรต่อวัน


การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 อยู่ที่ระดับ 6,542 พันตัน โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 43 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 การใช้ภาคขนส่ง มีสัดส่วนร้อยละ 14 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 11 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 ในขณะที่การใช้เอง มีสัดส่วนร้อยละ 1 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.9 ในขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนร้อยละ 31 ลดลงร้อยละ 0.6 การใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 อยู่ที่ระดับ 4,410 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมาจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและราคาการนำเข้า LNG ระยะสั้น (Spot LNG) ที่ปรับตัวลดลง จึงมีการนำเข้า Spot LNG เพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า สำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.3 และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 2.5

ส่วนการใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 15.0 อยู่ที่ 14,450 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงร้อยละ 13.3 และการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า IPP ลดลงร้อยละ 31.4 สำหรับการใช้ ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 10.6 อยู่ที่ 3,179 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) ทั้งนี้การใช้ลิกไนต์ร้อยละ 99 เป็นการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำหรับสัดส่วนการใช้ลิกไนต์ที่เหลือร้อยละ 1 ถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ยังไม่มีการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการหมดอายุประทานบัตรของเหมืองลิกไนต์ในประเทศแล้ว

ด้านการใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 มีการใช้รวมทั้งสิ้น 203,923 ล้านหน่วย โดยมาจากการใช้ไฟฟ้าในส่วนของสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในโรงแรมที่เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 22.5 ส่วนการใช้ไฟฟ้าของอพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ ห้างสรรพสินค้า ขายปลีก และขายส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 3.7 6.9 และ 4.0 ตามลำดับ สำหรับการใช้ไฟฟ้าในสาขาครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 และสาขาอื่นๆ (องค์กรไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว และไฟฟ้าสาธารณะ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าในสาขาอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนการใช้ถึงร้อยละ 42 มีการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2.6 จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหดตัวในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 ทั้งนี้ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2566 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 MW เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน


สำหรับประมาณการความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 นั้น มีการพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2 – 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ปี 2567 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 การใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และประมาณการความต้องการไฟฟ้าปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ของปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 35,000 MW สูงกว่าปีที่แล้วเฉลี่ย 15-16%

“ ปีนี้อากาศร้อนขึ้นจะเห็นว่า พีคแรกของปีเกิดขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ 32,508.2 MW ขณะที่ปี 2566 พีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,827 MW เมื่อ 6 พ.ค.66 เวลา 21.41น. ซึ่งปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สำรองไฟฟ้าลดลงเหลือ 30% ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีความต้องการให้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น น่าจะพีคอยู่ที่ประมาณ 35,000 MW ซึ่งจะส่งผลให้สำรองไฟฟ้าลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 25%”

ส่วนความคืบหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือ PDP 2024 คาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต้นเดือนเมษายน 2567 เพื่อ ส่วนแผนพลังงานชาติ ซึ่งเป็นการบูรณาการ 5 แผนย่อยเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) จะมีการเปิดรับฟังความเห็นได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป. -517-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

วิเคราะห์การเมืองสนามใหญ่ หลังศึกเลือกตั้งนายก อบจ.

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 4 สนามใหญ่ โดยเฉพาะอุดรธานี ที่สะท้อนถึงความนิยมในตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบกุญแจมือเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนดัง ส่งนอนห้องขัง

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบ “กุญแจมือ” เป็นของขวัญปีใหม่ให้อินฟลูฯ นักร้อง คนดัง ส่งนอนห้องขังวีไอพี เผยปม “ฟิล์ม รัฐภูมิ” คาดมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง