กรุงเทพฯ 7 ส.ค. – ภาคเอกชนหารือกระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาบุคลากรวิชาการด้านระบบราง เดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน รองรับการขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าไป 8 จังหวัดสำคัญ รวมทั้งพัฒนารถไฟความเร็วสูง
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หารือกับผู้บริหารเครือข่ายสถาบันวิชาการระบบขนส่งทางราง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ภาคเอกชนเสนอให้กระทรวงคมนาคมเป็นแม่งานขับเคลื่อนการเพิ่มความรู้ภาควิชาการของไทยและบุคลากรด้านระบบรางให้เพียงพอ เนื่องจากการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขณะนี้ชัดเจนว่านโยบายรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดโครงการครอบคลุมถึงจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีการเติบโตของเมืองสูง ขณะเดียวกันประสบปัญหาจราจรไม่ว่าเชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งภาคเอกชนขอให้กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมสนับสนุนเพื่อให้กลไกภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณดำเนินการช่วยขับเคลื่อน
นอกจากนี้ ผู้บริหารสภาวิศวกรรายงานความคืบหน้าการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากจีนให้ไทย ซึ่งขณะนี้สภาวิศวกรสรุปงานแขนงวิชาการที่ไทยจำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดไม่ใช่เพียงการเดินรถหรือบำรุงรักษาเท่านั้น แต่จะครอบคลุมการออกแบบด้วย โดยจะแบ่งงานออกเป็น 27 แขนง ฝ่ายไทยจัดสรรบุคลากร นักวิชาการ ที่มีคุณวุฒิระดับปริญญาเอกขึ้นไปร่วมเป็นตัวแทนถ่ายทอดเทคโนโลยีแต่ละแขนง เมื่อมีความพร้อมแล้วนักวิชาการเหล่านี้จะนำความรู้ถ่ายทอดทางวิชาการให้แก่สาธารณะต่อไป ซึ่งครั้งนี้สภาวิศวกรประเมินค่าใช้จ่ายการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนจะใช้เวลา 8 เดือน ค่าใช้จ่าย 30-40 ล้านบาท สภาวิศวกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบสนับสนุนจากกระทรวง รวมทั้งจะมีการรายงานผลและความคืบหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กระทรวงคมนาคมทราบ เพื่อนำเข้าหารือที่ประชุมรถไฟไทย-จีนครั้งต่อไป
ทั้งนี้ รมช.คมนาคม กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทงภาควิชาการที่ไทยจะต้องกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเนื้อหาสาระสำคัญในเอ็มโอยูที่ไทยจะมีการลงนามร่วมกัน ซึ่งในอนาคตไทยจะต้องก้าวไปสู่การบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง ทุกพื้นที่สถานีบุคลากรของไทยจะต้องบริหารจัดการระบบได้
นายพิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการหารือร่วมเอกชนเบื้องต้นภายใน 5 ปีข้างหน้า เมื่อรถไฟทุกระบบทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าภายในเมืองแต่ละจังหวัดต่าง ๆ เกิดขึ้นเต็มที่ เชื่อว่าไทยจำเป็นต้องใช้บคุลากรไม่น้อยกว่า 30,000 คน วันนี้จึงหารือภาควิชาการว่าขอให้ไปศึกษาแนวทางที่จะพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาทุกระดับ เพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอตามกรอบปริมาณและคุณภาพดังกล่าว .-สำนักข่าวไทย