กรุงเทพ 13 มี.ค.การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต” สร้างรายได้เสริมให้พี่น้องชาวสวนยาง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมลงนามในพิธีครั้งนี้เพื่อมุ่งขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ พร้อมสร้างรายได้เสริมชาวสวนยาง โดยนายณกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งดำเนินงานสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา นอกเหนือจากการผลิตยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา โดยสร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร ผ่านกระบวนการซื้อ – ขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นฐานการการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065
นายณกรณ์ กล่าวถึงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ว่า จะเปิดโอกาสในการสร้างรายเพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ให้สามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางนำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและยื่นขึ้นทะเบียนโครงการนำร่องกับ อบก. มีชาวสวนยางในพื้นที่ จ.จันทบุรี จ.เลย และ จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมจำนวน 2,299 ราย โดยมีพื้นที่สวนยางที่เข้าร่วมแล้วกว่า 50,000 ไร่ โดยคาดว่าการดำเนินโครงการนำร่องในช่วง 7 ปี จะสามารถสะสมปริมาณคาร์บอนเครดิตได้กว่า 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) คิดเป็นมูลค่ากว่า 390 ล้านบาท ซึ่งหากเกษตรกรมีสวนยาง 1 ไร่ จะสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 4 ตัน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 1,200 บาท/ไร่ ถือเป็นรายได้เสริมที่เกษตรกรจะได้รับจากพื้นที่สวนยาง นอกเหนือจากการขายผลผลิตยางเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ กยท. พร้อมที่จะผลักดันสวนยางให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติมและให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลกำหนดต่อไป
สำหรับการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปว่า กยท. จะร่วมกับ อบก. แลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักวิจัยและนักวิชาการเกษตรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ในการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในสวนยาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด เช่น เทคโนโลยี LiDAR อากาศยานไร้คนขับ และดาวเทียม ตลอดจนกำหนดแนวทางและกิจกรรมเพื่อยกระดับการจัดการสวนยางให้ดียิ่งขึ้น โดยการยืดอายุสวนยางด้วยวิธีการกรีดยางหน้าสูง การใช้แก๊สเอทธิลีนเร่งน้ำยาง และการกรีดยางด้วยระบบกรีดความถี่ต่ำ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการโค่นได้อีก 5-10 ปี และเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในสวนยางมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดทุน ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ระดับราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย
นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกษตรกรนำสวนยางมาซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว กยท. ยังได้วางแนวทางในการหาตลาดรองรับจากภาคเอกชนที่มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต รวมถึงสร้างความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาแพลตฟอร์มกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต รองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
“การดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่งให้แก่เกษตรกร นอกเหนือจากการขายวัตถุดิบยางพารา อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร โดยยกระดับการแก้ไขปัญหาทางภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้กับประเทศไทยต่อไป” นายณกรณ์กล่าว
นายเกียรติชายกล่าวว่า ขณะนี้มีพันธุ์ไม้มากกว่า 58 สายพันธุ์ที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้แต่จะต้องเป็นสายพันธุ์ไม้ยืนต้น โดยจะต้องดูปริมาณเนื้อไม้เป็นหลักเพราะตัวเนื้อไม้จะเป็นตัวดักเก็บคาร์บอน ส่วนราคาซื้อขายสำหรับพี่น้องชาวสวนยางพารา จะต้องพิจารณาถึงความยากง่าย ต้นทุนในการปลูก ถ้าพี่น้องชาวสวนยางสนใจที่จะขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศก่อน โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี นับตั่งแต่วันเริ่มต้นเข้าโครงการคาร์บอนเครดิตจึงจะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้เพราะจะต้องมีขั้นตอนของการตรวจวัดและประเมินก่อนการขายด้วย
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ทาง ธ.ก.ส.เคยทำสถิติซื้อคาร์บอนเครดิตที่แพงที่สุดในโลกที่ ป่าชุมชน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาในราคา 1 ตันคาร์บอนเครดิต ละ 3,000 บาท. 513 – สำนักข่าวไทย