นครนายก 5 ส.ค.- นายกรัฐมนตรีขอบคุณคนไทย ที่ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการระบายน้ำ วางระบบป้องกันปัญหาน้ำท่วม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับ ผู้ว่าฯ นครนายก ถึงการเตรียมรับมือน้ำท่วมในพื้นที่ พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีอยู่ร้อยละ 50 สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาได้อีก พร้อมสั่งการให้หามาตรการป้องกันเพิ่มเติม กรณีที่ฝนตกนอกเขตเขื่อน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม ปัจจุบันยังมีฝนตกลงอย่างต่อเนื่อง เพราะฤดูฝนเหลืออยู่อีก 2-3 เดือน จึงสั่งการให้ทุกพื้นที่ เตรียมการรับมือ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ที่จะมีฝนตกช้ากว่าพื้นที่อื่นๆ จึงต้องระวังให้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของการจัดทำแผนเผชิญเหตุ การลดพื้นที่น้ำท่วม รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วขึ้น แต่ปัญหาสำคัญอีกหนึ่งประการ คือ ระบบการระบายน้ำ ที่จะออกไปสู่ทะเลและลำคลอง ยังไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะยังมีปัญหาเรื่องที่ดินของเอกชนและประชาชน ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยตามหลักการ
“อยากขอความร่วมมือว่า หากต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ยั่งยืน ต้องสร้างระบบขนาดใหญ่ขึ้นมารองรับ จึงคิดว่า จะทำอย่างไรในการหาพื้นที่รองรับน้ำ ใกล้ภูเขาที่จะมีน้ำไหลลงมา อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ ไม่ให้ไหลลงไปด้านล่างมากเกินไป ขณะนี้กำลังสำรวจอยู่ว่า พื้นที่บริเวณหน้าเขา จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพื่อจะได้ไม่รบกวนพื้นที่ของประชาชนมากนัก” นายกรัฐมนตรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังมีบางพื้นที่ ที่จำเป็นต้องทำระบบระบายน้ำออก ผ่านที่ดินประชาชน ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็อาจต้องขอความร่วมมือ หากไม่ดำเนินการอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และวันข้างหน้า ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และรัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ต้องร่วมมือกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจและดำเนินการในปีนี้
“ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาวิธีการนำน้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดินเหมือนกับต่างประเทศ ซึ่งกำลังทดสอบอยู่ เพราะการนำน้ำไปเก็บไว้ใต้ดินทำให้เกิดความชุ่มชื่น กรณีนี้จะดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ที่เป็นดินทราย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพยายามทำทุกวิธี ในการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ดังนั้น แผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวที่วางไว้ อาจต้องมีการปรับแก้เพราะไม่สามารถรอได้ เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ ทั้งข้อกฎหมายและการทำประชาพิจารณ์ ทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าเกินไป และอาจส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังหาแนวทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด เพราะหลังจากนี้สภาพอากาศของโลก จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น แผ่นดินไหว ซึ่งม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด
นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า ต้องการให้เกษตรกรหันไปเลี้ยงสัตว์ แม้จะห้ามไม่ได้ แต่พื้นที่ไหนที่ปลูกข้าวแล้วไม่ได้ผล ก็ควรปลูกข้าวไว้แค่รับประทาน แล้วหันไปปลูกพืชอย่างอื่น เพื่อทดแทนรายได้ ซึ่งรายได้อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะได้ทำมาในหลายพื้นที่แล้ว ยืนยัน รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น แต่บางอย่างก็ไม่สามารถทำได้ จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วม ที่จังหวัดสกลนครและภาคใต้ พบว่า พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่ม เวลาฝนตก จึงทำให้น้ำท่วมทุกปี ดังนั้น จึงมีแนวคิดจะเปลี่ยนพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงแทน และจะจ่ายค่าชดเชยให้เท่ากับราคาที่เคยปลูกพืช
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประชาชนและทุกภาคส่วน ที่ร่วมบริจาคผ่านงานประชารัฐร่วมใจใต้ร่มพระบารมี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) ซึ่งมียอดรวมกว่า 264 ล้านบาท
“เป็นที่น่าดีใจ นี่เรียกว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน โดยเฉพาะในยามที่มีเรื่องทุกข์ยาก ซึ่งเป็นไปตามกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงติดตามสถานการณ์ปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด รวมทั้ง พระราชทานความห่วงใยและความช่วยเหลือแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับสั่งให้มีการทบทวนโดยนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ เช่นเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงห่วงใยประชาชน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ที่ขาดหายเป็นเวลานาน แต่วันนี้กลับมารวมกันได้ ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น จึงพยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม จึงขอให้เคารพในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายด้วยดี พร้อมยืนยันว่า ส่วนตัวไม่ได้เข้าข้างใคร ทุกอย่างเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม . – สำนักข่าวไทย