ชัวร์ก่อนแชร์: วัคซีนโควิดปนเปื้อนเนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์จากการทำแท้ง จริงหรือ?

20 กุมภาพันธ์ 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ผ่านทางสื่อในสหรัฐอเมริกาในปี 2022 เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ 16 รายที่ทำงานอยู่ในรัฐนิวยอร์ก ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านนโยบายบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์ในนิวยอร์กต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกคน โดยมีข้อยกเว้นแค่เหตุผลทางการแพทย์ แต่ไม่รับพิจารณาการปฏิเสธวัคซีนด้วยเหตุผลทางศาสนา โดยมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิทางความเชื่อของบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากมีการอ้างว่า วัคซีนโควิด-19 มีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์ที่เกิดจากการทำแท้ง การฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงไม่ต่างจากการสนับสนุนการทำแท้งซึ่งผิดหลักความเชื่อทางศาสนา


บทสรุป :

  1. วัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัล เวกเตอร์ ผลิตจากไวรัสที่เพาะเลี้ยงในเซลล์เนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์
  2. วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ไม่ได้ผลิตจากไวรัสที่เพาะเลี้ยงในเซลล์เนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์
  3. วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ใช้เซลล์เนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์เพื่อทดสอบประสิทธิผลของวัคซีนเท่านั้น
  4. วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิด ไม่มีส่วนประกอบของเซลล์เนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์อยู่ในวัคซีน
  5. มีวัคซีนหลายชนิดที่พัฒนาจากเซลล์เนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์ รวมถึงวัคซีนโรคหัดเยอรมันที่กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ในนิวยอร์กต้องฉีดมานานแล้ว

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

การยกเลิกการปฏิเสธวัคซีนด้วยเหตุผลทางศาสนาในนิวยอร์ก


ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2021 รัฐนิวยอร์กออกนโยบายบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกคน โดยมีข้อยกเว้นด้วยเหตุผลทางการแพทย์และเหตุผลทางศาสนา

กระทั่ง 8 วันให้หลัง องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ผ่านการรับรองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech แบบเต็มรูปแบบ หน่วยงานสาธารณสุขของนิวยอร์กจึงปรับเปลี่ยนนโยบายการฉีดวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใหม่ โดยจำกัดข้อยกเว้นทางการแพทย์ให้แคบลง และห้ามการปฏิเสธวัคซีนด้วยเหตุผลทางศาสนาโดยสิ้นเชิง

นิวยอร์ก ถือเป็น 1 ใน 3 รัฐของสหรัฐฯ รวมกับรัฐเมนและรัฐโรด ไอแลนด์ ที่กำหนดนโยบายบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 และห้ามการปฏิเสธด้วยเหตุผลทางศาสนา

นโยบายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 16 ราย ที่มองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิทางความเชื่อ และได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้ทางการนิวยอร์กล้มเลิกคำสั่งบังคับฉีดวัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยอ้างว่าวัคซีนโควิด-19 มีเนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์ที่เกิดจากการทำแท้งเป็นส่วนประกอบในการผลิตวัคซีน

อย่างไรก็ดี ข้ออ้างการมีเนื้อเยื่อตัวอ่อนมนุษย์อยู่ในวัคซีนโควิด-19 ไม่เป็นความจริง มีแค่การใช้เซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ในการทดลองวัคซีนหรือใช้ระหว่างกระบวนการผลิตวัคซีนเท่านั้น ไม่มีเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์เป็นส่วนประกอบในวัคซีนโควิด-19 ที่ฉีดให้กับประชาชนแต่อย่างใด

ความสำคัญของเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์กับการผลิตวัคซีน

การนำเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ในการวิจัยหรือผลิตยาและวัคซีน เป็นวิธีการที่วงการแพทย์ใช้กันมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ

เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ 2 ชนิดที่ใช้พัฒนาวัคซีนมากที่สุดได้แก่ WI-38 เซลล์เนื้อเยื่อปอดจากตัวอ่อนมนุษย์เพศหญิงวัย 3 เดือน เกิดจากแม่ชาวสวีเดนที่จงใจทำแท้งเมื่อปี 1963 โดยต่อมา WI-38 ได้กลายเป็นเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทฤษฎีชีววิทยาระดับโมเลกุล และอยู่เบื้องหลังการพัฒนาวัคซีนหลากหลายชนิด ทั้งวัคซีนที่ป้องกันโรคจากอะดีโนไวรัส, โรคหัด, โรคหัดเยอรมัน, โรคคางทูม, โรคอีสุกอีใส, โรคโปลิโอ, โรคไวรัสตับอักเสบเอ และโรคพิษสุนัขบ้า

เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์อีกชนิดคือ MRC-5 เซลล์เนื้อเยื่อปอดจากตัวอ่อนมนุษย์เพศชายวัย 14 สัปดาห์ เกิดจากแม่ชาวสหราชอาณาจักรที่แท้งลูกเมื่อปี 1966 เป็นเซลล์ตัวอ่อนที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาวัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบเอ, โรคอีสุกอีใส, และโรคโปลิโอ

ข้อมูลจากโรงพยาบาล Children’s Hospital of Philadelphia ยืนยันว่า แม้เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์จะใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนหลากหลายชนิด แต่วัคซีนที่ผลิตจากเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ จะไม่มีเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์เป็นส่วนประกอบของวัคซีน เนื่องจากวัคซีนจะผ่านการทำให้บริสุทธิ์ก่อนนำมาใช้เสมอ

เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์กับวัคซีนโควิด-19

วัคซีนโควิด-19 ที่มีความเชื่อมโยงกับเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มากที่สุด ได้แก่วัคซีนชนิดไวรัล เวกเตอร์ ซึ่งใช้อะดีโนไวรัสที่สร้างจากเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ

วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Johnson & Johnson ใช้ไวรัสที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ที่ชื่อว่า PER.C6 เซลล์จอประสาทตาจากตัวอ่อนมนุษย์วัย 18 สัปดาห์ ได้มาจากแม่ที่แท้งลูกเมื่อปี 1985 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเซลล์ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่ใช้อะดีโนไวรัสเป็นไวรัล เวกเตอร์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990’s

ส่วนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca ใช้เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ที่ชื่อว่า HEK-293 เซลล์ไตจากตัวอ่อนมนุษย์ที่ได้มาจากแม่ที่แท้งลูกเมื่อปี 1973 โดยต่อมาได้กลายเป็นเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ที่ใช้ในการวิจัยหรือผลิตวัคซีนและยารักษาโรคอย่างแพร่หลาย

วัคซีน mRNA ใช้เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ในการทดลองประสิทธิภาพวัคซีนเท่านั้น

ส่วนวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ทั้ง The Pfizer/BioNTech และ Moderna ถือว่ามีความเชื่อมโยงกับเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์น้อยกว่าวัคซีนชนิดไวรัล เวกเตอร์ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ใช้ mRNA ของไวรัสแทนการใช้ไวรัสเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จึงไม่มีการนำไวรัสไปเพาะเลี้ยงในเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์แต่อย่างใด มีแค่การนำวัคซีนไปทดลองกับเซลล์ HEK-293T เพื่อยืนยันว่าวัคซีน mRNA สามารถเปลี่ยน mRNA เป็นโปรตีนหนามของโควิด-19 ได้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เซลล์ HEK-293T เพื่อผลิตอนุภาคเทียม (Pseudovirus) ของไวรัสโควิด-19 เพื่อทดสอบระดับแอนติบดีในสัตว์ทดลองที่ได้รับวัคซีน mRNA อีกด้วย

อเลสซอนดรา สไปเดล นักวิทยาศาสตร์สาขาวัสดุชีวภาพ สถาบัน Karolinska Institute จากประเทศสวีเดน อธิบายกับนิตยสาร National Geographic ว่า จุดประสงค์ของการนำเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มาใช้ทดสอบวัคซีน mRNA คือรับประกันว่าวัคซีน mRNA สามารถนำมาใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้จริง

ศาสนากับวัคซีนที่พัฒนาจากเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์

ในมุมมองของศาสนาคริสต์ ทั้งจากสำนักวาติกัน ผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิก และ Southern Baptist Convention องค์กรศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และเป็นองค์กรศาสนานิกายแบปทิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต่างมองว่าการรับวัคซีนที่พัฒนาจากเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่ยอมรับได้และไม่ผิดศีลธรรม เนื่องจากมองว่าไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สหพันธ์สภาบิชอปคาทอลิกแห่งสหรัฐอเมริกา (USCCB) แนะนำให้เลือกวัคซีนที่มีความเชื่อมโยงกับเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์จากการทำแท้งให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่กระนั้นก็ยังมองว่า การรับวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นภารกิจเพื่อการกุศลต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นภารกิจที่สื่อถึงความรักต่อเพื่อนบ้านและเป็นความรับผิดชอบด้านศีลธรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

แม้แต่ สถาบัน Charlotte Lozier Institute องค์กรต่อต้านการทำแท้ง ก็มองว่าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer/BioNTech และ Moderna ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นโดยขัดต่อหลักจริยธรรม

หมอเคยฉีดวัคซีนที่ผลิตจากเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มานานแล้ว

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนปี 2022 ศาลสูงของสหรัฐฯ มีมติ 6 ต่อ 3 ไม่รับพิจารณาคำร้องให้มีการยับยั้งนโยบายบังคับบุคลากรทางการแพทย์ในนิวยอร์กฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากมองว่า ที่ผ่านมาเคยมีวัคซีนที่กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ในนิวยอร์กต้องฉีดโดยไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธด้วยเหตุผลทางศาสนา และก็เป็นวัคซีนที่ผ่านการพัฒนาด้วยการใช้เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มาแล้วเช่นกัน

ข้อมูลที่ทางการนิวยอร์กอ้างต่อศาลสูงของสหรัฐฯ ระบุว่า เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ชนิด HEK-293 ที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer และ Moderna คือเซลล์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ และเป็นเซลล์ที่สืบทอดมาจากเซลล์ต้นกำเนิดมาแล้วหลายพันรุ่นตั้งแต่ปี 1973 การนำเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มาใช้ในการทดลองเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในวงการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนโรคหัดเยอรมัน ซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานที่กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ในนิวยอร์กต้องฉีดทุกคนอยู่แล้ว

คุณูปการของเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์

การนำเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มาใช้เพื่อการวิจัยทางการแพทย์ เป็นประเด็นที่สร้างข้อโต้แย้งมานานนับทศวรรษ แต่กระนั้น เซลล์เพาะเลี้ยงเหล่านั้นคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานวิจัยด้านชีวการแพทย์ และมีบทบาทสำคัญในการค้นพบแนวทางการรักษาและการผลิตตัวยาชนิดใหม่ ๆ ออกมามากมาย รวมถึงยาสามัญประจำบ้านอย่าง พาราเซตามอล เช่นกัน

แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อื่น ๆ ทั้งการใช้ Monoclonal antibodies หรือการผลิตยาต้านไวรัสอย่าง Remdesivir ต่างผ่านกระบวนการทดสอบกับเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มาแล้วทั้งสิ้น

อาเมช อดัลจา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากศูนย์ Johns Hopkins Center for Health Security ชี้แจงต่อนิตยสาร National Geographic ว่า ผู้คนมักไม่รู้ถึงความจำเป็นของการใช้เซลล์ตัวอ่อนมนุษย์เพื่อการพัฒนายาและวัคซีน ซึ่งล้วนเป็นยาที่ใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน การนำเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มาใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ทำให้วัคซีนโควิด-19 มีความแตกต่างจากยาหรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ แต่อย่างใด

มีการประเมินในปี 2015 ว่า เฉพาะวัคซีนที่พัฒนาจากเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ชนิด WI-38 สามารถช่วยชีวิตผู้คนมาแล้วกว่า 10.3 ล้านราย และยังช่วยป้องกันและรักษาผู้คนจากการป่วยด้วยโรคร้ายกว่า 4.5 พันล้านครั้ง

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.factcheck.org/2022/07/scicheck-covid-19-vaccines-dont-contain-fetal-tissue/
https://www.nationalgeographic.com/science/article/here-are-the-facts-about-fetal-cell-lines-and-covid-19-vaccines
https://www.vatican.va/roman_curia/congregations/cfaith/documents/rc_con_cfaith_doc_20201221_nota-vaccini-anticovid_en.html
https://erlc.com/resource-library/articles/explainer-covid-19-raises-concern-about-abortive-fetal-cells-in-medicine/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นร.หญิง ม.1 จมทะเลดับ หลังโรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่ระยอง

โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา พานักเรียนไปทัศนศึกษาที่ จ.ระยอง นักเรียนหญิง ม.1 ถูกคลื่นดูดลงทะเลขณะเล่นน้ำ เสียชีวิต พ่อแม่สุดเศร้าสูญเสียลูกสาวคนเดียวของครอบครัว

น้ำท่วมเชียงใหม่

เชียงใหม่จมบาดาล น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์

น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังวิกฤติ หลังน้ำในลำน้ำปิงขึ้นสูงสุดทรงตัวสูงกว่า 5.30 เมตร ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการวัดระดับน้ำปิง

น้ำท่วมขนส่งเชียงใหม่กระทบผู้โดยสาร เปิดจุดจอดรับ-ส่งชั่วคราว

น้ำขยายวงกว้างเข้าท่วมสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 และ 3 เต็มพื้นที่ ระดับน้ำสูงเกือบ 50 ซม. ผู้ประกอบการขนส่งต้องนำรถทัวร์โดยสารออกมาจอดรับ-ส่งบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ยืนยันผู้ประกอบการยังให้บริการตามปกติ

ระทึก! แท็กซี่พลิกคว่ำเกิดเพลิงไหม้ 5 ชีวิตรอดหวุดหวิด

รถแท็กซี่พลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้กลางถนนพระราม 9 ผู้โดยสารหญิงสติดีถีบประตูช่วยตัวเองและคนอื่นออกมาจากตัวรถรวม 5 ชีวิตได้ทัน แต่ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 1 คน เป็นคนขับแท็กซี่ ตำรวจเร่งสอบสวนหาสาเหตุ

ข่าวแนะนำ

เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำ

น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไม่หยุด ล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือน ต.ธรรมามูล อ.เมืองชัยนาท ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. น้ำระบายท้ายเขื่อนที่ 2,200 ลบ.ม./วินาที

เร่งอพยพชาวบ้านหลายร้อยครอบครัว น้ำปิงยังสูง

แม้ระดับน้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เริ่มลดลง หลังขึ้นสูงสุดถึง 5.30 เมตร แต่หลายชุมชนและย่านการค้ายังมีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้ของเมือง น้ำยังเพิ่มสูง หลายร้อยครอบครัวต้องอพยพด่วน

อิสราเอลโจมตีทางอากาศมัสยิด-โรงเรียนในกาซา ดับแล้ว 24

สำนักงานสื่อมวลชนของรัฐบาลกาซาที่กลุ่มฮามาสเป็นผู้ดำเนินการ กล่าวว่า อิสราเอลโจมตีทางอากาศโดยมีเป้าหมายเป็นมัสยิดและโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นฐานในฉนวนกาซา เมื่อตอนเช้าวันอาทิตย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 ราย และบาดเจ็บอีก 93 ราย