กรุงเทพฯ 14 ก.พ.-อดีตสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยืนยันพูดเรื่องจริง ไม่โกหก มิจฉาชีพโทรคุย 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี วอนตำรวจไซเบอร์ใช้เครื่องมือพิเศษตรวจสอบสร้างการรับรู้ต่อประชาชน ด้านตำรวจไซเบอร์ ยืนยันรับสายโจร 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี ไม่ใช่เรื่องจริง
นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พาอดีตสมาชิกแก๊งคอลเซนเตอร์ เข้าพบ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 เพื่อให้ตรวจสอบกรณีอดีตสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์คนนี้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้อุปกรณ์ล้ำสมัย ราคาเครื่องละ 14 ล้านบาท ดูดเงินออกจากบัญชีเหยื่อได้ด้วยการพูดคุยเพียง 2 นาที โดยไม่ต้องกดลิ้งก์และไม่ต้องกดแอปฯ ใด ๆ เนื่องจากหลังผู้เสียหายเข้าร้องเรียนกับ “สายไหมต้องรอด” เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และเป็นข่าวใหญ่ออกไป ปรากฏว่าตำรวจไซเบอร์และสถาบันการเงินต่างออกมายืนยันว่า ไม่น่าเป็นความจริง ตนและผู้เสียหายจึงต้องการให้ สอท.1 พิสูจน์เรื่องนี้ให้ชัดเจน หากเป็นเรื่องจริงจะได้หาวิธีป้องกันไม่ให้คนไทยตกเป็นเหยื่อ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัว อดีตแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่นายเอกภพ พามาในวันนี้ เข้าไปสอบถามข้อมูลเบื้องต้น โดย พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ กล่าวว่าที่เชิญ อดีตสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาพบวันนี้เป็นการเชิญมาเพื่อสอบถามในเชิงลึก เพราะเหตุเกิดขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความมั่นใจและชัดเจน ตำรวจจะใช้เครื่องมือพิเศษเจาะดูข้อมูลว่า เรื่องโทร 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชีทำได้จริงหรือไม่ เบื้องต้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และอย่ากังวล ถ้าโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ตัดสายทิ้งทันที
ส่วนการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 1 ปี ยังไม่เคยเกิดเคสลักษณะนี้มาแจ้งความ ขณะที่สมาคมธนาคารได้มีหนังสือยืนยันมาแล้วว่าการใช้เสียงพูดคุยเพียงแค่ 2 นาที หรือมากกว่านั้น แล้วดูดเงินออกไป ยังไม่มีเกิดขึ้นจริง พร้อมยืนยันธนาคารมีระบบรักษาความปลอดภัยสูง
ขณะ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) ยืนยันมิจฉาชีพแค่โทรมาหลอกคุย 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี ไม่เป็นความจริง
โดยระบุว่าจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลพยานหลักฐานในคดีที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ รวมไปถึงคำแถลงการณ์ของศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอยืนยันว่า แค่การรับโทรศัพท์ หรือการกดลิงก์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้มิจฉาชีพดูดเงินในบัญชีออกไปได้ แม้การรับโทรศัพท์ หรือ การกดลิงก์ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้มิจฉาชีพหลอกลวง แต่จำเป็นต้องมีพฤติการณ์อื่นร่วมด้วย
ทั้งนี้ มิจฉาชีพมักจะใช้วิธีหลัก ๆ ในการหลอกลวงเหยื่อ คือ พูดให้เหยื่อโอนเงินให้เอง อาทิ พยายามหลอกถามข้อมูลเหยื่อเพื่อนำข้อมูลไปใช้เข้าถึงบัญชีบน Application ของเหยื่อ, หลอกล่อให้เหยื่อติดตั้งโปรแกรมควบคุมมือถือเพื่อโอนเงินออกเอง และหลอกล่อให้เหยื่อเผลอกดรหัสนิรภัย หรือ ข้อมูลสำคัญสำหรับโอนเงิน
และเมื่อเหยื่อรับสายมิจฉาชีพ จะพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเอง พยายามสนทนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหยื่อไม่มีสมาธิจดจ่อกับข้อความที่ปรากฎขึ้นบนโทรศัพท์ เมื่อเหยื่อเริ่มเคลิ้มตามไปกับมิจฉาชีพ มิจฉาชีพจะใช้จังหวะนี้ในการหลอกถามข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการเข้าถึงแอปบัญชีธนาคาร
จากกรณีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น “สายชาร์จดูดเงิน”, “ลิงก์ดูดเงิน“, “QR Code ดูดเงิน” และในกรณีล่าสุด “รับสายแล้วดูดเงิน” ล้วนไม่เป็นความจริง มิจฉาชีพต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะสามารถขโมยบัญชีของเหยื่อได้
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางการป้องกัน คือ ไม่ดาวน์โหลดติดตั้ง รวมถึงกดลิงก์ใดๆ โดยเฉพาะจากแหล่งที่ไม่รู้จักพร้อมให้ตรวจสอบลิงก์ก่อนกดทุกครั้ง ไม่สแกนใบหน้ากับโปรแกรมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store (App Store สำหรับ IOS และ Play Store สำหรับ Android เป็นต้น) เมื่อรู้ตัว หรือสงสัยว่ากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ไม่แนะนำให้คุยต่อ เพราะอาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจจะมีข้อมูลจริงทำให้พูดคุยแล้วยิ่งหลงเชื่อ รวมไปถึงอาจเสี่ยงต่อการถูกนำเสียงไปใช้ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้อื่นต่อ หลีกเลี่ยงการใช้รหัสเดียวกันในการปลดล็อกอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะรหัสเข้าแอปพลิเคชัน Mobile Banking เพื่อป้องกันการเผลอกดรหัสโอนเงินโดยไม่ตั้งใจ และหากมีข้อสงสัย ให้โทรสอบถามที่เบอร์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง หรือโทรปรึกษาสายด่วนศูนย์ AOC 1441. -412-สำนักข่าวไทย