10 กุมภาพันธ์ 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Facebook ในต่างประเทศ โดยอ้างว่า รัฐบาลออสเตรเลียเคยมีคำสั่งห้ามผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้ารับการผ่าตัด โดยรัฐควีนสแลนด์อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสเท่านั้นที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้
บทสรุป :
ออสเตรเลียกำหนดให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉิน และผู้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
สำนักงานสาธารณสุขของรัฐควีนสแลนด์ เปิดเผยต่อทางสำนักข่าว 7News เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมปี 2021 ว่า ทางการของควีนสแลนด์ได้ดำเนินการตามระเบียบสากลว่าด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะและการฉีดวัคซีน โดยกำหนดให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต, ปอด และหัวใจ ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าประเทศออสเตรเลียห้ามการผ่าตัดฉุกเฉินแก่ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน เพราะข้อกำหนดดังกล่าวมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่เตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเท่านั้น ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลาเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเป็นเวลานาน
การผ่าตัดฉุกเฉินและการผ่าตัดที่ต้องวางแผนล่วงหน้า
การผ่าตัดแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่การผ่าตัดฉุกเฉินและการผ่าตัดที่ต้องวางแผนล่วงหน้า
การผ่าตัดฉุกเฉินต้องทำอย่างเร่งด่วนหลังจากผ่านการวินิจฉัยแล้ว ส่วนการผ่าตัดที่ต้องวางแผน การผ่าตัดจะเกิดขึ้นหลังคนไข้ผ่านการประเมินทางคลินิกว่ามีความพร้อมสำหรับการผ่าตัดแล้ว
การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะไม่จัดเป็นการผ่าตัดฉุกเฉิน เพราะผู้ป่วยต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานนับปี ทั้งการรอการบริจาคอวัยวะที่ใช้ปลูกถ่ายและการทดสอบในห้องปฏิบัติการ จนถึงการวางแผนดูแลคนไข้หลังการผ่าตัด โดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต้องใช้เวลารอนานถึง 4-5 ปีก่อนเข้ารับการผ่าตัด
เหตุผลที่คนไข้ที่รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อให้ร่างกายยอมรับอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่ได้รับจากการบริจาค การใช้ยากดภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันของคนไข้อ่อนแอลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จนป่วยหนักหรือเสียชีวิต
ดิพาล คูมาร์ ประธานสมาคมการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะอเมริกา (AST) อธิบายว่า ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการป้องกันอาการแทรกซ้อนและการติดเชื้อก่อนและหลังการผ่าตัดอย่างเคร่งครัด
โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต้องฉีดวัคซีนหลายชนิด ทั้งวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ และบี, วัคซีนปอดอักเสบ, และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้คนไข้ต้องห้ามสูบบุหรี่, งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องกินยากดภูมิคุ้มกันหลังการผ่าตัด ข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยให้การผ่าตัดมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นและลดอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผลการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้วติดเชื้อโควิด-19 จะเสียชีวิตถึงเกือบ 18% และมีการศึกษาที่พบการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในกลุ่มผู้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ สูงถึง 30%
ข้อมูลอ้างอิง :
http://www.mythdetector.ge/en/node/5520
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter