รัฐสภา 5 ก.พ.-“ภูมิใจไทย” จี้ประธานเร่งบรรจุร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช. ยอมรับบางฉบับยังจำเป็น แต่อาจเป็นปัญหานักลงทุน- สิทธิมนุษยชน-การชุมนุม
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทย และคณะ ยื่นร่างพระราชบัญญัติ ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่าพรรคภูมิใจไทยได้ยื่นเรื่องนี้เข้าสู่ระบบไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 วันนี้มาติดตามทวงถาม เพื่อให้เร่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม และจะได้แจ้งให้ประชาชนรับทราบ เนื่องจากมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว และบางคนยังถูกดำเนินคดี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จึงมอบหมายให้ นายศุภชัย ใจสมุทรและทีมฝ่ายกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย ไปศึกษาในเรื่องของประกาศและคำสั่งของคสช. ที่มีปัญหาเป็นอุปสรรค ในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยและได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งจากการศึกษาประกาศและคำสั่งคสช.มีทั้งหมด 240 ฉบับ ออกเป็นกฎหมาย มี 71 ฉบับ ซึ่งตามศักดิ์คำสั่งและประกาศของคสช. เทียบเท่ากับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนั้นถ้าจะยกเลิกจะต้องออกเป็น พ.ร.บ. โดยคำสั่งของคสช.ที่จะบังคับใช้เป็นกฎหมายได้มีทั้งหมด 37 ฉบับ เป็นพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงอย่างละ 2 ฉบับ เป็มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 55 เรื่อง
โดยร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ฉบับที่ได้ยื่นนี้ จะยกร่าง 7 มาตรา ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และปัญหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน แต่ขณะนี้ประเทศของเรา เข้าสู่ระบบประชาธิปไตย แล้วจะไปแทรกแซงสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชนไม่ได้ รวมถึงสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม จึงอยากให้เพื่อนสมาชิกสส. ให้ความเห็นชอบและผ่านร่างกฎหมายนี้โดยเร็ว
“ไม่ได้ตำหนิในเรื่องของประกาศคำสั่งคสช. ซึ่งยอมรับว่าบางฉบับยังมีความจำเป็น แต่จะมีปัญหากับนักลงทุน เพราะต่างชาติเมื่อเข้ามาลงทุนจะดูกฎหมาย ดังนั้นเมื่อมีสภาฯ ที่นี่จึงเปรียบสภาฯเป็นโรงงานเกียกกาย ดังนั้นการแก้กฎหมายจึงควรมาจากโรงงานเกียกกาย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกติกา”นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย