สำนักข่าวไทย 30 ก.ค.-กรมสุขภาพจิต แนะนำพ่อแม่ดูแลลูกท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วม เพราะเด็กก็เครียดเป็น อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจ
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เด็กๆ อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจไปด้วย เนื่องจากที่ได้เห็นและรับรู้ความทุกข์ความกังวลของผู้ใหญ่และคนในครอบครัว ซึ่งเด็กๆ อาจสูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือของเล่นที่ตนรัก ชีวิตประจำวันตามปกติต้องสะดุดลง เช่น โรงเรียนปิด ต้องอพยพย้ายที่อยู่ เป็นต้น รวมถึงการที่เห็นคนในครอบครัวและคนที่รู้จักบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์รุนแรงได้ ดังนั้นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่ดีที่สุดในภาวะเช่นนี้ คือ เตรียมพร้อมรับมือ หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปรับตัวจัดการกับปัญหาได้ทั้งระหว่างเกิดภัยน้ำท่วมและในภายหลัง เด็กๆ มักต้องการพึ่งพาในเรื่องข้อมูลทั่วไป คำปลอบโยนและความช่วยเหลือ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของเด็กแต่ละวัยอาจตอบสนองต่อภาวะน้ำท่วมและผลที่ตามมาแตกต่างกันไปตามระดับอายุ พัฒนาการ และประสบการณ์ที่เคยมี พ่อแม่จึงควรรับรู้และสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่อาจพบในเด็กเช่น กลัว หวาดหวั่นเรื่องความปลอดภัยของตนและคนอื่นๆ รวมทั้งของสัตว์เลี้ยง กลัวการแยกจากคนในครอบครัว มีพฤติกรรมติดผู้ใหญ่ พ่อแม่พี่น้อง มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งเพิ่มขึ้น สมาธิและความตั้งใจลดลง หงุดหงิดง่าย แสดงอารมณ์ก้าวร้าว บ่นเจ็บป่วยไม่สบาย ปวดท้อง ปวดหัว พฤติกรรมการเรียนเปลี่ยนไป ไม่สนใจเรียน เพ่งความสนใจอยู่กับเรื่องน้ำท่วม ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ ส่วนเด็กวัยรุ่นอาจแสดงออกแตกต่างไปจากเด็กที่เล็กกว่า มักรู้สึกว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอนและแสดงพฤติกรรม เช่น ถดถอยทางสังคม เก็บตัว โกรธ หงุดหงิดได้ง่าย โต้เถียง ขัดแย้งกับผู้ใหญ่ ทำพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่ออันตรายเพิ่มขึ้น และอาจใช้เหล้า หรือยา เป็นต้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้เวลาเพื่อพูดคุยกับพวกเขา ทำให้พวกเขารู้ว่าเขาสามารถพูดคุยซักถามและแบ่งปันความกังวลใจที่มีได้ ควรเปิดโอกาสให้เด็กรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวหรือกับโรงเรียนของเขา หรือกับชุมชนที่อยู่ ถามความคิดเห็นของเขาบ้าง เพราะเด็กอาจรับรู้และแปลความอย่างผิดๆจนเกิดเป็นความหวาดกลัว ควรแสดงออกด้วยการกอด เล่น และใช้เวลาอยู่ร่วมกัน สนับสนุนให้เด็กมีส่วนช่วยในงานต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่เฉยๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นควรสนับสนุนให้เขามีส่วนช่วยในงานของชุมชน งานจิตอาสา เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย