รัฐสภา 4 ม.ค.-“วราวุธ” รมว.พม. พอใจอภิปรายวันแรก ขอบคุณนายกฯ ให้ความสำคัญงบฯ พม. เผยไม่สามารถเพิ่มงบฯ คนชรา 1,000 บาทได้ เพราะกระทบงบฯ หลายส่วน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 หลังจากผ่านมา 1 วัน ว่า ขอบคุณฝ่ายค้านที่ได้ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเรื่องสังคม ที่กระทรวง พม. ดูแลอยู่ ซึ่งข้อสังเกตต่างๆ เหล่านั้น จะนำไปปรับปรุงและเร่งรัดการทำงาน และทางรัฐบาลเองไม่ว่าจะเป็น คณะรัฐมนตรี หรือ สส.ฝั่งรัฐบาล ตนเชื่อว่าได้ให้ข้อมูล ที่น่าจะให้ความชัดเจน กับข้อสังเกตของทางฝ่ายค้านได้
“ต้องขอบคุณทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่มีความเป็นห่วงเป็นใย เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุและเด็กๆ โดยข้อมูลล่าสุดที่ตนได้มา ช่วงเย็นของเมื่อเดือนธันวาคม 2566 เรามีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 20% ของประเทศ ซึ่งอยู่ประมาณ 20.1- 20.2 % หากเทียบตามกติกาสากลนั้น บอกว่า 7-14% เป็นสังคม สังคมผู้สูงอายุ และ 14-20% เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ หากเกิน 20% เมื่อใด จะเรียกว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยของเรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด เทียบเท่ากับประเทศญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือการดูแลผู้สูงอายุ คือเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ แต่ศักยภาพในการดูแลเทียบกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ ซึ่งเด็กเกิดใหม่ปี 2565 มีอยู่ประมาณ 400,000 กว่าคนเท่านั้น ฉะนั้นจากนี้ไป คนเจนเนอเรชั่น Y และ Z หรือในอนาคตคือ Alpha นั้น จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อมีสวัสดิการให้กลุ่มผู้สูงอายุที่นับวันมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญวันนี้ นอกจากการดูแลผู้สูงอายุให้ทั่วถึงแล้ว ตนมองว่าถึงเวลาที่สังคมไทยต้องดึงศักยภาพของคนทุกกลุ่มในประเทศไทยระยะสั้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ดึงศักยภาพเหล่านี้ออกมา เนื่องจากคนทั้งสองกลุ่มนี้ ไม่ได้แปลว่าเป็นคนที่ไม่มีศักยภาพในการทำงาน ทุกคนล้วนเป็นบุคลากรและเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมไทย ดังนั้นเราต้องดึงศักยภาพและเสริมศักยภาพของคนกลุ่มเหล่านี้ และนำมาเป็น Productivity และทำให้เกิดรายได้และพลังขับเคลื่อนของสังคม
นายวราวุธ ยังกล่าวอีกว่า ไม่อยากให้ประเทศไทย กลายเป็นเหมือนบางประเทศในทวีปยุโรป ที่กลุ่มคนวัยทำงานเริ่มถอดใจ และตัดสินใจให้ตนเองเกษียณก่อนวัยอันควร ฉะนั้นตนคิดว่าเป็นเวลาที่สังคมไทยโดยเฉพาะกระทรวง พม. จะต้องเสริมสร้างศักยภาพของคนกลุ่มเปราะบาง ให้มีความเข้มแข็งและเป็นหนึ่งในกำลังที่จะมาพัฒนาสังคม
ส่วนประเด็นที่นายกรัฐมนตรี บอกว่า งบประมาณปี 2567 จะเน้นเรื่องการพัฒนาสังคมนั้น รู้สึกพอใจหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องขอบคุณนายกฯ ที่ให้ความสำคัญ ในการพัฒนาทุกๆ มิติของสังคมไทย ทั้งประเด็นเรื่องความรุนแรงของสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ เป็นสิ่งที่เป็นกำลังใจให้กับชาวกระทรวง พม.
ส่วนที่มีการอภิปราย เรื่องของเบี้ยผู้สูงอายุ ขอให้เพิ่มเป็น 1,000 บาท ทุกช่วงวัย ซึ่งจากเดิมได้ 600 บาทนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า การขอไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การขอ 600-800 ใช้เงินปีนึงประมาณหนึ่งแสนล้านบาท ดังนั้นถ้าจะให้เป็น 1,000 บาทถ้วนหน้า ต้องใช้เงินมากขึ้นถึง 60,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากสำนักงบประมาณและรัฐบาลมีเงินพอก็เชื่อว่าอยากจะให้ แต่ปี 2565 มีคนเสียภาษีจริงๆ 4 ล้านกว่าคน และมีเงินภาษีกับบริษัทห้างร้าน และสรรพสามิต ซึ่งไม่ถึง10% ของประชากรคนไทยหรือมีคนเสียภาษีเพียง แค่ไม่ถึง5ล้านคน เงินขาเข้ามีน้อย แต่เงินขาออก ทุกคนอยากให้มีถ้วนหน้า ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องเน้นกลุ่มเปราะบาง และคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน แล้วค่อยๆ ดูแลตามลำดับความสำคัญ
“ส่วนตัวก็อยากจะให้ดูแลสังคมให้ถ้วนหน้าได้จริงๆ อย่างที่ถูกอภิปราย แต่ก็เห็นจาก กระทรวงการคลัง สำนักบประมาณที่มีรายได้น้อยและจำกัด พม.เองก็ไม่อยากให้งบประมาณกลายเป็นงบขาดดุลทุกปีๆ ซึ่งปีนี้ก็กู้อีกหลายแสนล้าน และถ้าหากต้องการถ้วนหน้าจริง ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับสำนักงบประมาณ ถ้างบเพียงพอ ไม่ใช่แค่ 1,000 บาท แต่ 3,000 บาท เราก็อยากให้ กี่พันบาท เราก็อยากจะให้ แต่วันนี้รายจ่ายและรายรับไม่บาลานซ์กัน”นายวราวุธ กล่าว
ทั้งนี้ ไม่อยากให้มองว่า ผู้สูงอายุจะต้องเป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว เพราะสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น หลายคนก็มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ซึ่งเกิดจากระบบสาธารณสุขของไทยที่มีการพัฒนา ดังนั้นจึงมองว่า สังคมไทยควรให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ เพราะเขาสามารถทำงานเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศไทยได้
“ทุกคนอาจจะตั้งคำถามว่าจะเอากลุ่มคน 60 ปี มาทำงานหรือ ซึ่งต้องบอกว่า วันนี้กลุ่มคนทำงานมีจำนวนน้อยลง แต่กลับมีจำนวนผู้ใช้สวัสดิการเพิ่มขึ้น จึงเกิดคำถามตามมาว่า ถ้าทุกคนอยากได้รับการสนับสนุน แล้วจะเอาคนกลุ่มไหนมาทำงาน เพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้ และหากกลุ่มผู้สูงอายุทำงานได้ เป็นเหมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะประเทศชาติจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น และสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำหลังวัยเกษียณ ซึ่งจะเป็นผลดีที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง”นายวราวุธ กล่าว.-317.-สำนักข่าวไทย