รัฐสภา 3 ม.ค.- “ศิริกัญญา” ชี้ ไม่มีงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่นายกฯ บอกว่าวิกฤติ เปรียบจัดงบแบบ “ประยุทธ์ดาวน์ เศรษฐาผ่อนต่อ” มุ่งใช้กลไกนอกงบประมาณมาแก้ไขปัญหา
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลที่จะนำมาใช้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายค้านพูดเอง แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดย้ำเองว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤต ซึ่งหากวิกฤตจริง ตัวงบประมาณจะไม่ออกมาในรูปแบบนี้
“ในเอกสารการจัดทำงบประมาณ ระบุว่า เศรษฐกิจปี 66 คาดจะโต 2.5% ปี 67 โต 3.2% ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล ดูยังไงก็ยังไม่วิกฤตแบบที่นายกรัฐมนตรีพูด เรื่องงบประมาณที่จัดทำ ก็มองไม่ออกว่ากำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งดูจากที่สำนักงบประมาณ ฉบับประชาชน ระบุว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ระดับ 5 % โดยรัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมาย จีดีพี โต 5% ด้วยการโกงสูตรปรับจีดีพีที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกรู้ดี อย่าโกงสูตรเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมาย ซึ่งตามปกติ เศรษฐกิจจะโตได้เมื่อมีการกู้เงิน มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน แต่ยังตั้งงบขาดดุลเท่าเดิม แผนการคลังของรัฐบาล ทำไมต้องทำขาดดุล 3.4% ไปต่อเนื่อง ทั้งที่พรรคเพื่อไทยบอกเองว่าจะทำงบสมดุลภายใน 7 ปี” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า หากมีวิกฤตก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นเรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคือ ดิจิทัลวอลเล็ต แพ็คเกจใหญ่ 500,000 ล้านบาท เอาเงินเติมให้กับประชาชน ใช้เงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท
“แต่งบดิจิทัลวอลเล็ตกลับล่องหน ไม่มีในงบประมาณ ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ 100,000 ล้านบาท เหลือเพียง 15,000 ล้านบาท และเพิ่งใส่มาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงว่ายังไม่มีเงินเติมอีก 100,000 ล้านบาท
โดยต้องรอดูว่าจะกู้ 500,000 ล้านบาทได้หรือไม่ คิดว่ารัฐบาลฝากความหวังไว้ที่ พ.ร.บ.กู้เงิน เหมือนการฝากไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวและมีความเสี่ยงสูงหากไม่สามารถออกพ.ร.บ.กู้เงินได้ หากกู้ไม่ได้ก็จะเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์ทันที”นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา ยังกล่าวว่า หากมองดูว่าวิกฤตแบบใดที่งบกลาโหมเพิ่มขึ้น เพราะปกติแล้วเมื่อเกิดวิกฤต กลาโหมมักตัดงบประมาณของตัวเองลงเพื่อช่วยประเทศ ที่ผ่านมา วิกฤตต้มยำกุ้ง,แฮมเบอร์เกอร์,โควิด มีการลดงบมาโดยตลอด แต่วิกฤตของนายกรัฐมนตรี งบกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 2%
ส่วนโครงการเรือธงที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีอยู่ในงบประมาณ และไหนจึงว่าเกิดวิกฤต ทำไมงบยังคงเดินหน้าแบบเดิม 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งจะบอกว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติก็เข้าใจได้ว่าต้องสานต่อ แต่มีโครงการใหม่เพียง 236 โครงการจาก 1,500 โครงการ มีงบประมาณเพียง 13,656 ล้านบาท จากงบโครงการใหม่กว่า 830,000 ล้านบาท ชี้ว่ามีงบมรดกตกทอดจากรัฐบาลก่อน
นางสาวศิริกัญญา ยังเปรียบว่าเหมือน “ประยุทธ์ดาวน์ เศรษฐาผ่อนต่อ” ซึ่งถือว่าพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ โดยทำงบประมาณการชดใช้เงินคงคลัง 120,000 ล้านบาท โดยเอาไปชดใช้งบบุคลากรไม่เพียงพอกว่า 20,000 ล้านบาท บำเหน็จบำนาญกว่า 50,000 ล้านบาท ค่าพยาบาล 20,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ไม่ควรพลาด เพราะเป็นงบเงินเดือน ทำไมถึงตั้งไม่เพียงพอ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นการผิดพลาดของรัฐบาลก่อน และรัฐบาลปัจจุบันก็ยังคงตั้งไว้ไม่พอใช้เช่นเดิม สุดท้ายแล้วงบในปีถัดไปก็จะต้องนำเงินคงคลังออกมาใช้ และต้องมาชดใช้เงินคงคลังต่อไป โดยไม่เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตเลย
“มองว่าเป็นความตั้งใจผิดพลาด เพราะใช้จ่ายเกินงบประมาณกลาง 90,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน ซึ่งผิดพลาดทั้งการตั้งงบรายจ่ายไม่พอ และยังผิดพลาดเรื่องการประมาณการรายได้ จากการไม่เก็บภาษี หรือการลดหย่อนภาษีต่างๆ ทำให้ประมาณการรายได้ลดลงด้วย”นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่เห็นอะไรเป็นบทพิสูจน์ รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ นี่หรือเป็นรัฐบาลขึ้นชื่อด้านเศรษฐกิจ การหาเงินได้ ใช้เงินเป็น แต่กลับผิดพลาดในการจัดทำงบประมาณตั้งงบไม่เพียงพอ ประมาณการรายได้ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยและไม่คิดที่จะแก้ มุ่ง แต่ใช้กลไกนอกงบประมาณมาแก้ไขปัญหา คงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องคิดใหม่กับการบริหารราชการของพรรคเพื่อไทย.-316.-สำนักข่าวไทย