รัฐสภา 22 ธ.ค.-กมธ.แรงงาน เสนอรื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ-ใช้บอร์ดพหุภาคี แก้ปัญหาค่าจ้าง – ชงตั้งสภาแรงงานจังหวัด
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี มีมติยืนฐานการปรับค่าจ้างตามเดิม ระหว่าง 2 – 16 บาทว่า ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายการคำนวณค่าแรงของไตรภาคีล้าสมัย ทำให้สูตรการคิดคำนวณหาค่าแรง จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข เช่น ในกรณีของพื้นที่จังหวัดปัตตานีนั้น ที่จริงจะต้องปรับลด 1 บาทไม่ใช่ปรับเพิ่ม 2 บาท แต่เนื่องจากจังหวัดนราธิวาส และยะลา ได้ปรับ 2 บาท จึงทำให้ปรับจังหวัดปัตตานีด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ ในอดีตกระทรวงแรงงาน เป็นกรมแรงงานในกระทรวงมหาดไทย กฎหมายจึงตามไม่ทัน ทำให้และเกิดความขัดแย้งในอำนาจรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง รวมถึงอธิบดี และตัวแทนไตรภาคีจากฝั่งนายจ้าง ที่บางครั้งเป็นลูกจ้างที่นายจ้างมอบหมายมา จึงทำให้เป็นการทำงานตามคำสั่งนายจ้าง ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ บารมีตัวแทนนายจ้าง ยังเหนือกว่าลูกจ้าง จึงเสนอว่า ให้มีการเปลี่ยนระบบไตรภาคี เป็นพหุภาคี หรือรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด
ประธานคณะกรรมการการแรงงาน ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องดังกล่าวจำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทอีกหลายมุมว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะเป็นค่าแรงที่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์กับแรงงานไทยน้อย ส่วนใหญ่แรงงานต่างชาติได้ประโยชน์ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องยกระดับฝีมือแรงงานไทย และให้ได้รับใบรับรองด้วย
ส่วนกรรมาธิการจะมีการปรับเกณฑ์การขึ้นค่าแรง ทั้งสูตรการคำนวณ และองค์ประกอบบอร์ดไตรภาคีอย่างไรนั้น ประธานคณะกรรมการการแรงงาน ชี้แจงว่า กรรมาธิการ ฯได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแล้ว ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการบริหารระบบ กฎหมาย การจัดตั้งแรงงานจังหวัด เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินการต่อไป.-312.-สำนักข่าวไทย