ปภ. 7 พ.ย.- ทบ.หารือ ปภ. ประสานการทำงานเตรียมแผนรับมือป้องกันภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน พร้อมจัดฝึกอบรมกำลังพลรับมือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.) เข้าพบหารือร่วมกับนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อประสานการเตรียมการบรรเทาสาธารณภัยและการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ตรงกัน โดยกองทัพบกจะขอรับทราบข้อมูลที่เชื่อมโยงกับระบบติดตาม วิเคราะห์ แจ้งเตือน และรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ในรูปแบบของบทสรุป หรือ infographic และขอรับทราบข้อมูลการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่จังหวัดรายงานให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทราบ พร้อมกับขอความร่วมมือจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้ง 18 เขต จัดการฝึกให้กำลังพลของกองทัพบกในพื้นที่รับผิดชอบ ให้สามารถใช้อุปกรณ์และเครื่องมือของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตปฏิบัติงาน หรือเป็นเจ้าหน้าที่สนับสนุนในการบรรเทาสาธารณภัย สำหรับในปีงบประมาณ 2567
ทั้งนี้ กองทัพบก โดยกรมกิจการพลเรือนทหารบก มีแผนงานที่จะจัดการซักซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับมณฑลทหารบก โดยจะเกี่ยวเนื่องกับจังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับหน่วยมณฑลทหารบกของกองทัพบกและจังหวัดอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติต่อไป นอกจากนั้น กองทัพบกจะยังคงให้การสนับสนุนการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมแบบบูรณาการ รวมทั้งขอสนับสนุนเครื่องมือและเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีอยู่
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ปภ.พร้อมสนับสนุนกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ในด้านที่มีความพร้อม รวมถึงมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามในด้านการเชื่อมโยงข้อมูล และการฝึกซ้อมป้องกันสาธารณภัยร่วมกับกองทัพบก ในทางกลับกัน ปภ.ก็จะขอรับความสนับสนุนจากกองทัพบกด้วยเช่นกัน เพื่อร่วมมือในการดูแลและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติให้กับประชาชน และจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
“เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องมีภาคีเครือข่ายในการปฏิบัติงานร่วมกัน และต้องมีการเชื่อมหน่วยงาน ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อขอกำลังสนับสนุนจากกองทัพ เนื่องจาก ปภ.ไม่มีกำลังพลเพียงพอในการให้ความช่วยเหลือ โดย ปภ.มีศูนย์ ปภ.จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่ตามศูนย์เขต ปภ. หากเกิดภัยพิบัติก็จะสามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ดังกล่าวได้ในการสนับสนุนกองทัพที่มาช่วยเหลือประชาชน แม้ ปภ.จะไม่มีงบประมาณมาก ก็สั่งการให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เข้าไปให้การดูแลประชาชน ส่วนการประกาศภัยพิบัติต่างๆ ต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ทันช่วยเหลือประชาชน โดย ปภ.ยึดตามนโยบาย รมว.มหาดไทย ที่ว่า ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” อธิบดี ปภ. กล่าว
ขณะที่ พล.ท.อานุภาพ กล่าวว่า การได้รับการสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล ที่มาจาก ปภ.นั้น จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ที่สุด ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยต่างๆ ของกองทัพบกทั่วประเทศในการนำไปพิจารณาปรับใช้ด้วย
“งบประมาณแต่ก่อนเคยสามารถเบิกแยกได้แต่ละหน่วยงาน ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็ว แต่ปัจจุบันต้องเป็นการของบประมาณกองทัพบก จึงทำให้ต้องใช้ระยะเวลาของบประมาณในการเบิกจ่ายกำลังพลที่เข้าให้การช่วยเหลือประชาชน จึงขอให้ ปภ.ประสานงานโดยตรงกับ กร.ทบ. ในปัญหาภัยพิบัติ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว” พล.ท.อานุภาพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กองทัพบกมีกำลังพลที่พร้อมให้การสนับสนุน แต่ด้านเครื่องจักร กร.ทบ.ได้ร่วมกับหน่วยเคลื่อนที่เร็วและทหารช่างกองทัพบก ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้ในด้านการทหาร มาใช้ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนแทน โดย กร.ทบ. เสนองบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม 3 รายการ ได้แก่ รถเครื่องสูบน้ำ รถผลิตกระแสไฟฟ้า รถให้แสงสว่าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ กร.ทบ.สนใจ คือ รถเคลื่อนที่เปลี่ยนน้ำจากแหล่งน้ำเป็นน้ำดื่ม.-สำนักข่าวไทย