16 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- ข้ออ้างนำมาจากผลวิจัยที่ประเมินว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เท่าเดิมเป็นเวลา 1,000 ปี
- ผู้เชี่ยวชาญมองว่าในอีก 1,000 ปีข้างหน้า การพัฒนาด้านเทคโนโลยี มาตรการสิ่งแวดล้อม และการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง จะทำให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีการเผยแพร่ผลวิจัยที่ตั้งคำถามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงหรือ Lab-Grown Meat หลังพบว่า อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าการทำปศุสัตว์อย่างมาก ดังนั้นการบริโภคเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกลับเป็นการซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมให้รุนแรงยิ่งกว่าเดิม
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่าภายในปี 2050 นี้ โลกจะมีประชากรมากถึง 9 พันล้านคน จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารมากกว่าในปัจจุบันถึง 70% สวนทางกับพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ที่มีอย่างจำกัด
แม้แนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศพัฒนาแล้วจะลดลง แต่ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรจำนวนมากเช่น รัสเซีย อินเดีย และ สาธารณรัฐประชาชนจีน การบริโภคเนื้อสัตว์กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของประชากรชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากขึ้น และนิยมการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อ ไข่ นม และเนยต่าง ๆ
ปัญหาที่ตามมาคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการทำปศุสัตว์มีส่วนเพิ่มมลพิษในธรรมชาติ ในสหรัฐอเมริกาพบว่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 4% มาจากการทำปศุสัตว์นั่นเอง
การมาถึงของเทคโนโลยีเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง หรือการผลิตเนื้อสัตว์ในห้องปฏิบัติการคราวละมาก ๆ ได้รับการจับตาว่าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคเนื้อสัตว์ในอนาคต
อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านทางวารสารวิทยาศาสตร์ Frontiers ในหมวด Sustainable Food Systems เมื่อปี 2019 พบว่า ในระยะสั้น อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการทำปศุสัตว์ แต่ในระยะยาว อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากกว่า จากปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงกว่าการทำปศุสัตว์นั่นเอง
มีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์
การทำฟาร์มคือสาเหตุของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ และ มีเทน
มีเทนถือเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยผลิตมาจากระบบทางเดินอาหารของสัตว์สัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว กระบือ แกะ แพะ กวาง อูฐ ยีราฟ เป็นต้น
ในทางกลับกัน ก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีเพียงคาร์บอนไดออกไซด์ จากพลังงานถ่านหินที่ให้ความร้อนระหว่างการเพาะเลี้ยงเซลล์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้การทำปศุสัตว์จะปลดปล่อยมีเทนซึ่งส่งผลต่อสภาวะเรือนกระจกมากกว่า แต่มีเทนคงอยู่ในชั้นบรรยากาศในเวลาที่สั้นกว่าหรือเพียง 12 ปี ต่างจากคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศนานนับพันปี
ผู้วิจัยจึงลงความเห็นว่า อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตราที่สูงกว่าการทำปศุสัตว์ สุดท้ายแล้วจะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าในระยะยาว
ข้อจำกัดในการวิจัย
ผลวิจัยดังกล่าวมาจากสมมติฐานของทีมวิจัยที่เปรียบเทียบการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงและการทำปศุสัตว์ในช่วงเวลา 1 พันปี โดยอนุมานว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะมีอัตราการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์คงที่ในช่วงสหัสวรรษต่อจากนี้
นำมาซึ่งคำถามว่า มีโอกาสแค่ไหนที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะยังคงใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าเดิมจนถึงพันปีข้างหน้า
มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์ นโยบายของภาครัฐที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงทางเลือกของผู้บริโภคเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่พร้อมจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ข้อเปรียบเทียบการทำปศุสัตว์และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง
1.ที่ดิน
การทำปศุสัตว์ใช้ที่ดินมากกว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง นอกจากพื้นที่เลี้ยงสัตว์แล้ว 50% ของที่ดินเพื่อการเกษตรทั่วโลก ถูกใช้สำหรับปลูกพืชสำหรับอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจึงใช้ที่ดินในการผลิตเนื้อสัตว์น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ถึง 90%
2.น้ำ
ประเมินว่า เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ใช้น้ำในการผลิตถึง 550-700 ลิตร ส่วนใหญ่ใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงใช้น้ำในการผลิตเนื้อสัตว์น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ 82%-98%
3.การขนส่ง
อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่อยู่ในตัวเมือง ช่วยลดระยะทางการขนส่งเนื้อสัตว์จากฟาร์มสู่ผู้บริโภค ทำให้การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งลดลงอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.vox.com/future-perfect/2019/2/22/18235189/lab-grown-meat-cultured-environment-climate-change
https://www.wired.com/story/the-confounding-climate-science-of-lab-grown-meat/
https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fnut.2020.00007/full
https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fsufs.2019.00005/full
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter