กรุงเทพฯ 10 ต.ค. – เลขาธิการก.ล.ต. คนใหม่ยืนยัน จะทำให้กระบวนการตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์มีความโปร่งใส มีมาตรการป้องปรามการฉ้อฉลในการซื้อขายหลักทรัพย์ ในอนาคตตลาดทุนควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ สำหรับกรณี STARK และ MORE ซึ่งได้กล่าวโทษต่อดีเอสไอแล้ว ยังคงเดินหน้าตรวจสอบเชิงลึก หากพบหลักฐานใหม่ จะนำไปสู่การกล่าวโทษฐานความผิดอื่นเพิ่มและบุคคลที่กระทำผิดเพิ่ม
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก หลังจากได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 โดยระบุว่า ต้องการทำให้กระบวนการตรวจสอบตลาดทุนในอำนาจหน้าที่ของก.ล.ต. มีความโปร่งใส มีมาตรการป้องปรามการทุจริตในการซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้ในอนาคต ทุกคนสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้สูงอายุสามารถลงทุนในตลาดทุนเพื่อให้เกิดรายได้
สำหรับแนวทางผลักดันให้ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่กำกับสำนักสอบบัญชีและทำหน้าที่สอบสวนกรณีพบการทุจริตนั้น มีบรรจุในพ.ร.บ. หลักทรัพย์ ฉบับแก้ไขซึ่งอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะมีผลบังคับใช้ เช่นเดียวกับการปรับแก้กฎหมายให้สินทรัพย์ดิจิทัลมาอยู่ในกำกับของก.ล.ต. ซึ่งต้องใช้เวลา
ส่วนการดำเนินการตรวจสอบกรณีของ STARK และ MORE นั้น ก.ล.ต. ยังคงตรวจสอบในเชิงลึกเพิ่มเติม ไม่ได้หยุดดำเนินการ แม้จะมีการกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้วก็ตาม โดย STARK นั้น กล่าวโทษยฐานยื่นไฟล์ลิ่งและหนังสือชี้ชวนอันเป็นเท็จ รวมถึงตกแต่งบัญชี กรณี MORE กล่าวโทษ 2 ครั้งเกี่ยวกับการสร้างราคา โดยหากตรวจสอบพบหลักฐานใหม่ๆ จะนำไปสู่การกล่าวฐานความผิดอื่นเพิ่มเติมและผู้กระทำผิดอื่นเพิ่มเติม ในเร็วๆ นี้จะร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และดีเอสไอแถลงถึงความคืบหน้าทั้งหมด
นางพรอนงค์กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาคุณภาพการดำเนินงานของหน่วยงานตรวจสอบที่ย่อหย่อนลง เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะต้องนำบทเรียนมาปรับปรุง นอกจากนี้ก.ล.ต. กำลังศึกษาการจัดทำกองทุนเยียวยาผู้เสียหายจากการทุจริตจากการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยนำกรณีฉ้อฉลของ Enron มาเป็นตัวอย่าง โดยหากจัดทำกองทุนนี้สำเร็จ จะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย.-สำนักข่าวไทย